x close

ยังจำได้ไหม 15 ยี่ห้อรถเคยฮิตในไทย แต่สุดท้ายม้วนเสื่อแยกย้ายกลับบ้านเกิด

ย้อนวัยสไตล์คนมีอดีตกับรถ 15 ยี่ห้อที่เคยมีจำหน่ายเป็นสีสันให้กับถนนเมืองไทย แต่ปัจจุบันต้องม้วนเสื่อกลับบ้าน ทิ้งไว้แค่ความถวิลหาให้ได้คิดถึงในทุก ๆ แง่มุมอย่างออกรส ถ้ายังทันและอินไปกับแบรนด์รถเหล่านี้ได้ครบแสดงว่าประสบการณ์สูงทีเดียว

ยังจำได้ไหม 15 ค่ายรถที่เคยสร้างสีสันบนถนนเมืองไทยมาจนถึงประมาณช่วงยุค 80-90  ซึ่งอาจมีบางค่ายพยายามปลุกชีพ ต่อลมหายใจ จนผ่านมาได้อย่างทุลักทุเลเกือบถึงปัจจุบัน แต่สุดท้ายก็ต้องม้วนเสื่อกลับบ้านเกิด เหลือทิ้งไว้แต่ความทรงจำทั้งดีและร้ายให้ถวิลหาปน ๆ กันไป แต่เมื่อมันผ่านไปแล้ว ก็อดคิดถึงค่ายรถเหล่านี้ไม่ได้จริง ๆ ใครทันหรือเคยได้สัมผัสรุ่นไหนกันบ้าง เราหวังว่ายังมีคนจำนวนมากไม่ลืม แม้ไม่มีจำหน่ายในไทยอีกแล้วก็ตาม

1. Alfa Romeo

รถอิตาลีตระกูลเก่าแก่ที่มีความเป็นรถแข่งเข้มข้น จะบอกว่าเป็นต้นกำเนิดของ Ferrari ก็ได้ เพราะ Ferrari แยกตัวออกมาจากทีม Scuderia Ferrari ของ Alfa Romeo (ตอนนั้น Ferari ยังไม่ใช่ยี่ห้อด้วย) ซึ่ง Alfa Romeo ในไทยก็เคยมีช่วงฮอตเช่นกัน แม้ยุคท้าย ๆ ยอดขายไม่พุ่ง (ส่วนรุ่นปีลึกในอดีตไม่ต้องพูดถึง ขึ้นแท่นรถคลาสสิก ปั่นราคากันแพงเว่อร์) ทั้งนี้ภาพจำระยะสุดท้ายในไทย คงต้องยกให้ Alfa Romeo 156 รถซีดานคู่แข่ง BMW 3 Series ดูดีมีเสน่ห์แบบอิตาลี ปัจจุบันตลาดรถมือสองยังมีให้เห็น แต่เครื่อง Twin Spark กับเกียร์ Selespeed อาจเป็นยาขมที่ทำให้ใครหลายคนต้องมองดูอยู่ห่าง ๆ

2. Chrysler

แบรนด์รถอเมริกันที่เข้ามาทำตลาดในไทยช่วงกลางยุค 90 ได้รับความสนใจพอควรเพราะถือเป็นของแปลกใหม่ โดยรุ่นที่นำมาจำหน่ายและดังใช้ได้คือ Chrysler Neon รถซีดานขนาดคอมแพกต์ เครื่องยนต์ 2.0 ลิตร พร้อมเกียร์เชย ๆ แบบ 3 สปีด จุดเด่นคือดีไซน์ Cab Forword ประตูไร้กรอบกระจก เท่มาก ราคาไม่แพงจัด ช่วงแรกทำยอดขายได้น่าพอใจทีเดียว แต่หลังจากนั้น...ใครมีประสบการณ์ตรงจะมาช่วยเล่าให้ฟังกันได้ เราจะขอบคุณมาก 

3. Citroen

รถฝรั่งเศสสุดล้ำทั้งในแง่ของดีไซน์และเชิงวิศวกรรม หลายคนรู้จัก Citroen เพราะว่าวิ่งได้แม้มีแค่ 3 ล้อ ยกขึ้น-ลงได้ เป็นรถยี่ห้อแรกที่มีระบบกันสะเทือนแบบ Active รวมถึง Self-Leveling แต่เป็นแบบกลไก คนไทยนิยมเรียก “ช่วงล่างไฮดรอลิก” แต่ชื่อจริงคือ Hydropneumatic (ในยุคแรก ไม่มีไฟฟ้าควบคุม) และมันคือเสน่ห์ของ Citroen ที่หลายคนนึกถึงเป็นข้อแรก รุ่นดังในอดีตมีมากมายตั้งแต่ DS CX BX และ Xantia เป็นต้น

ในเสียมีดี ในดีมีเสีย ล้ำมาก ก็ต้องการการดูแลเป็นพิเศษ ถ้าไม่ใช่ช่างที่คุ้นเคยก็ได้แต่นั่งเกาหัว (หลายยี่ห้อก็แบบนี้ ต้องมีทักษะหรือเครื่องมือเฉพาะของรุ่นนั้น ๆ) แม้ช่วงสุดท้ายของ Citroen ในไทยจะห่างหายไปไม่นาน มี Citroen DS3 (พยายามเป็น) คู่แข่ง MINI ที่เห็นได้เยอะหน่อย แต่ระบบกันสะเทือนเหมือนรถปกติทั่วไป จากนั้นก็ตัดจบ อย่าให้พูดถึงเหตุผลเลยว่าทำไม พูดเยอะไม่ได้...เจ็บคอ

4. Daihatsu

เจ้าพ่อรถเล็ก ถ้าจำไม่ผิด เท่าที่เราจำได้ก่อน Daihatsu หายหน้าไปจากตลาดเมืองไทย รถ Daihatsu ชุดสุดท้ายน่าจะเป็น Daihatsu Move และ Daihatsu Terios แต่ถ้าให้พูดถึงรถ Daihatsu ที่เป็นขวัญใจมหาชนคนไทยจริง ๆ คงต้องยกให้ Daihatsu Mira เพราะราคาประหยัด ขนาดน่ารัก ไม่หรู ไม่แพง ก็แค่รถในฝันของใครหลาย ๆ คนเท่านั้นเอง

5. Daewoo

Daewoo Espero

Daewoo Nexia

Daewoo หนึ่งในค่ายรถเกาหลีที่บุกตลาดในไทยยุคต้น ๆ เน้นราคาและความคุ้มค่านำหน้าคุณภาพคล้าย Hyundai ได้รับความสนใจพอสมควร รถรุ่นฮิตของ Daewoo ช่วงนั้นคือ Daewoo Espero, Daewoo Cielo/Nexia (บอดี้เดียวกับ Opel Kadett ยุค 80 ถึงต้น 90) แต่รุ่นต่อ ๆ มาอย่าง Daewoo Lanos ไม่ปังเท่าไรนักและเราก็จำอะไรเกี่ยวกับ Daewoo ไม่ค่อยได้อีกเลย เว้นเสียแต่มันคือ Chevrolet Optra กับ Chevrolet Captiva ก็เท่านั้น

6. Fiat

ค่ายรถอิตาลีสำหรับคนสามัญธรรมดาพอซื้อหาได้ เคยเฟื่องฟูในไทยแต่นั่นก็นานมาก มีรุ่นเด็ดอย่าง Fiat 131 Volumetrico Abarth (ตอนนี้คือแรร์ไอเทมที่คนธรรมดาซื้อไม่ได้แล้ว) และกว่าที่ Fiat จะกลับมาให้คนไทยได้พูดถึงอีกครั้งคือช่วงกลางยุค 90 ด้วย Fiat Punto ขายแข่งกับ Opel Corsa ได้รับความสนใจพอควรเพราะความน่ารัก (อาจไม่ถึงขั้นฮิต) จริง ๆ ก่อนหน้านั้นมี Fiat Tempra แบบ 4 ประตู ทำตลาดด้วย แต่ไม่ได้รับความนิยมนักในยุคที่รถญี่ปุ่นครองเมือง

Fiat Punto

7. Holden

Holden Calais

ถ้าจะใช้คำว่าฮิตกับ Holden ในไทยคงต้องย้อนอดีตไปลึกหน่อย ซึ่งเราก็ไม่แน่ใจว่าคนรุ่นนั้นจะยังอ่านไหวหรือเปล่า แต่ถ้าเอาแค่พอให้วัยกลางคนรู้เรื่อง คงเป็น Holden commodore Calais ไฟ Pop-Up จนถึง Holden Calais รุ่นสุดท้ายที่ใช้เครื่องยนต์ร่วมกับ Nissan Cefiro A31 เราเชื่อว่าหลายคนอาจยังพอนึกภาพออก ส่วนถ้ารุ่นเล็กกว่าของ Holden ที่เคยฮิตในบ้านเราอยู่บ้างคงเป็น Holden Camira โดยเฉพาะ Holden Camira Van ก็จัดว่าเป็นรถที่เก๋คันหนึ่งช่วงปลายยุค 80 ถึงต้น 90

8. Jeep

ฮือฮาทีเดียวสำหรับการเปิดตัว Jeep Cherokee ในไทย ช่วงที่รถ SUV บูมถึงขีดสุด ใครได้ขับนับว่าเท่บาดใจ ขนาดกะทัดรัด เครื่องยนต์ใหญ่และโบ (ราณ) ตามสไตล์อเมริกัน แต่นั่นไม่ใช่ประเด็น เพราะฮิตกันทั่วบ้านทั่วเมืองจริง ๆ จนต้องมี Jeep Grand Cherokee ตามมาอีก เพื่อยกระดับความหรูหรา น่าเสียดายที่ช่วงขาลงมาเร็วเกินคาดสำหรับ Jeep ในไทย รถ SUV เครื่องใหญ่ซดน้ำมันดันสวนกระแสเศรษฐกิจ ก็เลยมีอันต้องโบกมือลากันไป (ก็ไม่ใช่แค่เฉพาะ Jeep หรอก)

Jeep Grand Cherokee

9. Lotus

ค่ายรถสปอร์ตจากอังกฤษ ที่ไม่ถึงกับฮิตแต่มีจำหน่ายในไทย ถ้าใครอยู่ในยุค 90 อาจทันได้ว้าวกับ Lotus Esprit หรือไม่ก็ Lotus Elan ส่วนยุคหลังจากนั้น พอมี Lotus Elise สปอร์ตน้ำหนักเบาให้เห็นประปราย แต่ไม่แน่ใจว่านำเข้ามาจำหน่ายโดยตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการหรือไม่ ปัจจุบันไม่ใช่แค่เฉพาะในไทย ชื่อเสียงของรถสปอร์ต Lotus ก็ไม่ได้เกรียงไกรเท่าในอดีตอีกแล้ว

10. Mitsuoka

Mitsuoka ค่ายรถใหม่จากญี่ปุ่นยุคหลัง ๆ แล้ว แต่เด่นตรงสไตล์เรโทรที่มักนำเอาพื้นฐานของรถยุคปัจจุบัน (ส่วนมากจะเป็นรถ Nissan) มาดัดแปลงให้คล้ายรถอังกฤษรุ่นดังในอดีต เช่น Rolls-Royce Silver Cloud, Jaguar Mark I เป็นต้น มีความพยายามนำเข้ามาจำหน่ายจริงจังในไทยช่วงสั้น ๆ แต่ราคาไม่ธรรมดาและแม้จะตกแต่งภายในให้ดีขึ้น แปลกตา แต่พื้นฐานก็ไม่ต่างจากรถญี่ปุ่นราคาปกติ (ย่อมรู้สึกไม่คุ้มค่าเป็นธรรมดา) อีกทั้งกลุ่มลูกค้าที่ชอบของแปลกก็คงมีไม่มาก เลยปิดฉากกันไป

11. Opel

ชื่อเสียง Opel ยุคสุดท้ายในไทยช่วง 90s ก่อนจะวูบนั้นบอกเลยว่าฮิตทีเดียวและฮิตอยู่หลายรุ่น ปังสุดคือ Opel Corsa ด้วยความน่ารัก ตามมาด้วย Opel Astra ก็จัดว่าพบเห็นได้บ่อยในฐานะรถป้ายแดง จากนั้นก็กริบ แต่แอบกลับมาในฐานะ Chevrolet Zafira เรียกว่าทำให้ตลาดรถ Mini MPV นี่ร้อนฉ่าไปเลย อย่างไรก็ตามรถดีต้องมีหลายปัจจัยประกอบ เพราะคนไทยไม่ได้ซื้อแค่ตัวรถ ดังนั้นคนที่เคยใช้จะตอบได้ดีว่าทำไม Opel หายไปเร็วนัก

12. Renault

รถฝรั่งเศสสำหรับคนคนไทยนั้นคล้ายเป็นยาขมจริง ๆ ไม่รู้ว่าเพราะยี่ห้อ ตัวรถหรือเหตุผลอื่นนอกเหนือจากนี้ แต่เอาเป็นว่ารถขับดี มีสไตล์อย่าง Renault ก็ไม่รอด โดยยุคสุดท้ายของ Renault ที่พอมีวิ่งให้เห็นมากหน่อย (มากสำหรับ Renault นะ) คือ Renault R9, R19 และ R21 ส่วนช่วงปลาย ๆ อย่าง Renault Clio หรือ Espace เรานี่แทบจำไม่ได้แล้วว่าเข้ามาจำหน่ายโดยตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการหรือไม่ แต่รถมีน้อยมากใครได้เห็นวิ่งบนถนน คงคล้าย ๆ กับถูกหวยรางวัลที่ 1

Renault R19

Renault R21

13. Rover

Rover ในที่นี้ไม่ใช่ Range Rover หรือ Land Rover แต่เป็นรถอังกฤษเหมือนกันและแบรนด์ Rover ได้เปลี่ยนผ่านมาหลายเจ้าของ แต่ถ้าจะพูดถึง Rover ในไทยเฉพาะช่วงท้าย ๆ หลายคนคงเคยเห็น Rover Mini (Mini ทรงคลาสสิกในยุค Rover ครอง Austin) จอดขายเป็นรถป้ายแดงในโชว์รูมเล็ก ๆ ริมถนนวิภาวดี (ช่วงลงทางด่วนดินแดง) มีตัวถัง Drop Head เปิดประทุนขายในบ้านเราด้วย โก้ไม่เบา

จากนั้น BMW ได้เข้าซื้อกิจการ Rover Group (มี Range Rover, Land Rover, Mini, MG และยี่ห้ออื่น ๆ รวมด้วย) มีการดึง Honda เข้ามาร่วมลงทุนและแชร์เทคโนโลยี ยุคนั้น Rover มีหลายรุ่นทำตลาดในไทย เช่น Rover 600 Series (พื้นฐาน Honda Accord), Rover 800 Series รวมถึง Rover 200 Coupe ก็มา และจากนั้น BMW ก็ขายแบรนด์อื่น ๆ ของ Rover Group ทิ้งหมด เก็บไว้แค่ MINI ในเครือ BMW Group อย่างที่เห็น ส่วน Rover นั้นหาย กลายเป็น Roewe ของ SAIC เจ้าของเดียวกับ MG ที่จีนได้ไปตอนโดน BMW เทนั่นเอง

14. Saab

รถสวีเดนเทคโนโลยีอากาศยาน แต่อาภัพกว่า Volvo มาก หลายรุ่นของ Saab ขึ้นทำเนียบรถคลาสสิกหายาก ทั้งนี้ Saab ในไทยชื่อเสียงไม่ธรรมดา แม้อาจเฉพาะกลุ่มก็ตาม ยุคหลัง ๆ ที่ทำตลาดในไทยมีรุ่นเด็ดจอดในโชว์รูมถนนเพชรบุรี อย่าง Saab 900 Classic (ยิ่ง 900 Turbo เปิดประทุน ราคายิ่งกระฉูด) Saab 900 รวมถึงไปถึงรุ่นใหญ่ Saab 9000 Aero รหัสนี้ถ้าสภาพสมบูรณ์ รถยุคปัจจุบันยังวิ่งตามลำบากพูดเลย

Saab 900

Saab 9000 CS

15. Seat

ถ้าตอนที่ไทยมีโครงการ Eco Car+รถคันแรก ฮือฮาอย่างไร คนรุ่นใหม่วัยทำงานที่อยากขับรถยุโรปช่วงยุค 90 ก็คงรู้สึกไม่ต่างกัน เมื่อ Seat ทำตลาดในไทยด้วย Seat Cordoba ซีดาน 4 ประตู คันเล็กน่ารัก ราคาจับต้องได้ พอ ๆ กับรถญี่ปุ่นอย่าง Toyota Corolla เหมือนสีสันของตลาดรถเมืองไทยยุคนั้น เป็นความหลากหลายและแปลกใหม่ที่เกิดยากในยุคนี้ นอกจาก Seat Cordoba จะได้รับความสนใจแล้ว รถ Mini MPV  อย่าง Seat Alhambra ก็ทำยอดขายได้ไม่ธรรมดาเช่นกันสำหรับรถแบรนด์แปลกในไทย ยุคที่การเดินทางเพื่อการพักผ่อนกันเป็นครอบครัวด้วยรถ MPV เฟื่องฟู ไม่ต่างจากรถครอสโอเวอร์ SUV ในตอนนี้

ทั้ง 15 แบรนด์และรถรุ่นฮิตเท่าที่เราพอนึกออกเหล่านี้ ปัจจุบันจัดว่าเป็นความถวิลหา (Nostalgia) ของคนไทยบางส่วน (เราเชื่อว่าไม่น้อย) ที่เคยมีโอกาสได้สัมผัส ซึมซับกับสีสันบนถนนในวันเก่า ๆ เป็นมุมดี ๆ ในอดีตที่ยังหลงเหลือ แม้มีรถหลายรุ่นจะเข้าข่ายประโยคที่ว่า “ดีใจตอนได้มาและตอนที่ขายไป” ก็ตาม แต่นั่นคือความทรงจำที่อาจไม่มีวันกลับมาเกิดขึ้นกับตลาดเมืองไทยอีกแล้วก็ได้

ภาพจาก Jeep, Lotus, Daihatsu, classicholdencars.com, vlcalais.com.au, autoevolution.com และ classics.honestjohn.co.uk

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ยังจำได้ไหม 15 ยี่ห้อรถเคยฮิตในไทย แต่สุดท้ายม้วนเสื่อแยกย้ายกลับบ้านเกิด อัปเดตล่าสุด 24 มิถุนายน 2564 เวลา 17:22:22 30,212 อ่าน
TOP