x close

Porsche 911 Paul Smith เมื่อความเร็วพบแฟชั่น​ ​เพราะบางวันคือรันเวย์

          Porsche 911 Paul Smith ผลงานอาร์ต ๆ ที่แสดงให้เห็นว่าโลกรถยนต์และแฟชั่นเป็นโลกเดียวกันได้ เพราะในยุคที่อะไรก็คล้าย ๆ กัน ไลฟ์สไตล์จึงเข้ามาเกี่ยวข้อง เหมือนที่ Porsche 911 Paul Smith แย่งซีน Porsche 911 คันอื่น ๆ ในงาน Le Mans Classic 2018 และยังมีงานเดินสายโชว์ตัวต่อที่ Goodwood Festival of Speed อีก

          รันเวย์และสนามแข่งบางวันอาจเป็นที่เดียวกันได้และถ้าวันนั้นเกิดขึ้น รถยนต์ก็ต้องดูเก๋ ดูเฟียร์ซ สะดุดตาเป็นพิเศษท่ามกลางรถยนต์คันอื่น ๆ เหมือน Porsche 911 ปี 1965 เจเนอเรชั่นแรกที่มาในชุด (สี) ของ Paul Smith เรียกว่าแย่งซีน Porsche 911 รุ่นเดียวกันในงาน Le Mans Classic 2018 แถมยังได้ไปโชว์ตัวที่งาน Goodwood Festival of Speed และเป็นส่วนหนึ่งของการฉลองครบรอบ 70 ปี Porsche ด้วย ต้องขอบคุณพลังแห่งแฟชั่นจริง ๆ
          Porsche 911 ปี 1965 คันนี้เป็นรุ่นตกแต่งพิเศษคันเดียวในโลก ที่เกิดจากความร่วมมือกันระหว่างสองวงการธุรกิจของอังกฤษ คือ James Turner สเปเชียลลิสต์ด้าน Porsche คลาสสิก เจ้าของ Sports Purpose และ Paul Smith แบรนด์เสื้อผ้าชื่อดังที่หลายคนรู้จักเพราะลายซิกเนเจอร์เป็นแถบบาร์โค้ดสีรุ้ง และมักจะปรากฏในรถยนต์ MINI หรือ Land Rover และนี่เป็นครั้งแรกที่เกิดขึ้นกับรถ Porsche

          ซึ่ง James Turner บอกว่าตัวเองเป็นสาวกของแบรนด์ Paul Smith และปัจจุบันก็ยังคงเป็นอยู่ เลยอยากให้ Porsche 911 ของตนเองที่ใช้ลงแข่งขันในรายการ Le Mans Classic 2018 ดูเก๋ ดูชิคกว่ารถคลาสสิกคันอื่น ๆ ด้วยการเพนต์ลายซิกเนเจอร์ของ Paul Smith ซึ่งมันได้ผลดีเกินคาด ทุกคนต้องมองและนี่คือพลังแห่งแฟชั่นที่แท้ทรู

          เพราะเอาจริง ๆ Porsche 911 ในปี 1965 ไม่ใช่รถสปอร์ตที่มีขุมพลังรุนแรงนัก เครื่องยนต์ Boxer แบบ 6 สูบ แอร์คูลด์ จ่ายเชื้อเพลิงด้วยคาร์บูเรเตอร์ ให้กำลังเพียง 130 แรงม้า และแรงบิด 174 นิวตันเมตร เท่านั้น เอาเป็นว่าเครื่องยนต์ Ferrari แรงกว่าเยอะ

          แต่พอดีว่า เฟอร์ดินานด์ ปอร์เช่ แกอัจฉริยะ จับเครื่องยนต์วางท้ายรถมาตั้งแต่ Porsche 356 ให้การถ่ายน้ำหนักตอนเร่งกดลงที่ล้อหลังอย่างหวังผล Porsche จึงเป็นรถสปอร์ตที่ไวแถมเบา เพราะทุกอย่างกระจุกรวมอยู่ท้ายรถ ลดชิ้นส่วนไปได้มากกว่ารถเครื่องยนต์วางหน้าขับเคลื่อนล้อหลัง ต้นทุนต่ำกว่า 

          เพราะยุคนั้น Porsche ไม่ได้อู้ฟู่หรือแรงจัด รถขับดีได้ด้วยกำลังเหมาะสม ควบคุมง่าย (ปอร์เช่คำนวณมาแล้วว่าพอดีกับรูปแบบที่ใช้ และอเมริกันลืมนึกถึงข้อนี้ Chevy Corvair เลยมีการขับขี่เข้าขั้นวิกฤต) และในเมืองไทย Porsche 911 ปี 1965 ที่เซียน Porsche มักเรียกว่า ฮอร์นกริลล์ (เอกลักษณ์ของเจเนอเรชั่นนี้ คือช่องตะแกรงแตรใต้ไฟหน้า) ราคาแรงพอ ๆ กับ Porsche รุ่นใหม่เลยทีเดียว ขนาดซากยังแพง

          แต่ถ้าพูดในมุมของแฟชั่น อาจเป็นการเสริมความเก๋าให้กับแบรนด์ของ Paul Smith สังเกตได้จากรถยนต์ที่ Paul Smith เลือกใช้ไม่ว่าจะเป็น MINI หรือ Land Rover (ความเป็นรถอังกฤษตรงกับ Paul Smith ก็ส่วนหนึ่ง) ล้วนเป็นรุ่นคลาสสิกและดีไซน์อมตะทั้งสิ้น เพราะความจริง Paul Smith แม้จะถือกำเนิดมาตั้งแต่ยุค 70 แต่สำหรับวงการแฟชั่นระดับโลกแล้ว เป็นแบรนด์ที่อายุยังน้อยเมื่อเทียบกับแบรนด์ไฮเอนด์อื่น

          วงการแฟชั่นชั้นสูงมีความคล้ายวงการรถยนต์อยู่อย่างหนึ่ง (หรืออาจหลายอย่าง) คือ ดีไซน์เนอร์รุ่นเก๋ามักวางศักดิ์ศรีไว้เหนือแบรนด์เกิดใหม่ ซึ่งก็เก๋าจริง ๆ อย่างการใช้อักษรย่อ YSL แทน Yves Saint Laurent ได้แบบที่คนในวงการแฟชั่นยอมรับ รู้กันดีว่าต้องระดับ Artisan ชั้นครู เหมือน Louis Vuitton ใช้ LV

          ขนบแนวคิดทำนองนี้เกิดในวงการรถยนต์เช่นกัน อย่างป๋า Enzo Ferrari ที่มอง Ferruccio Lamborghini ว่าด้อยชั้นกว่าเพราะเป็นหน้าใหม่ แม้กระทั่งลูกค้ายุคนั้น Enzo Ferrari ต้องได้เจอและอนุญาตว่ามีสิทธิ์จะได้ซื้อรุ่นไหน ไม่ใช่แค่มีเงินแล้วจะเดินเข้าไปเลือกซื้อแบบอิสระ จริง ๆ Enzo มีเหตุผล เนื่องจากรถ Ferrari เครื่องแรงมาก แกห่วงลูกค้าไม่ได้มีโอกาสกลับมาซื้ออีกเป็นรอบที่สอง

          แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตามเห็นได้ชัดว่าโลกของรถยนต์ ศิลปะและแฟชั่นสามารถเป็นเรื่องเดียวกันได้ แถมเกิดขึ้นมาตลอด ซึ่ง Paul Smith ไม่ใช่รายแรก แม้แต่ Louis Vuitton, Gucci ล้วนทำมาแล้วทั้งนั้น (นานมาก โดยเฉพาะ LV) เพราะรถกับแฟชั่นอาจอยู่บนรันเวย์เดียวกันได้ทุกเมื่อ

ภาพจาก Paul Smith

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
Porsche 911 Paul Smith เมื่อความเร็วพบแฟชั่น​ ​เพราะบางวันคือรันเวย์ อัปเดตล่าสุด 25 กรกฎาคม 2561 เวลา 12:38:50 3,913 อ่าน
TOP