x close

ทำไม Mazda พัฒนาเครื่องยนต์ SKYACTIV-X ในยุคที่รถไฟฟ้ากำลังจะบูม ?​

SKYACTIV-X

          ฟังเหตุผลจาก Mazda ว่าทำไมยังให้ความสำคัญกับเครื่องยนต์สันดาปภายในและพัฒนาเครื่องยนต์ SKYACTIV-X ในยุคที่กระแสรถยนต์ไฟฟ้ามาแรง ซึ่งรถยนต์รุ่นแรกที่ได้ใช้คือ All-new Mazda 3 โดยอาจเปิดตัวช่วงต้นปี 2019
          ทำไม Mazda ยังไม่ทำตัวให้โลกสวยตามกระแสแล้วหันไปหารถยนต์ไฟฟ้าไร้มลพิษในทุ่งลาเวนเดอร์เหมือนผู้ผลิตรถยนต์รายอื่น แต่กลับยังพัฒนาเทคโนโลยี SKYACTIV-X ให้เครื่องยนต์สันดาปภายในที่รอวันสูญพันธุ์เพราะปล่อยไอเสียทำร้ายโลกมานาน หลายกระแสว่า Mazda ไม่มีทุนมากนักสำหรับพัฒนารถยนต์ไฟฟ้า (ก็อาจส่วนหนึ่ง) และนี่คือเหตุผลในมุมของ Mazda ที่นำเสนอผ่านออฟฟิศเชียลเว็บไซต์ zoomzoommag.com ว่าทำไม SKYACTIV-X จึงยังสำคัญซึ่งคุณไม่จำเป็นที่จะต้องรู้ก็ได้ถ้าไม่สนใจเครื่องยนต์สันดาปภายในอีกต่อไปแล้ว

SKYACTIV-X

          อะไรคือ SKYACTIV-X ?

          SKYACTIV-X คือการปฏิวัติของเครื่องยนต์ครั้งแรกในโลก (แบบ Mass Production เพราะก่อนหน้านี้ GM เคยคิดค้นมาก่อนแต่ก็ไม่ได้นำมาใช้จริง) ที่สามารถนำการจุดระเบิดในห้องเผาไหม้โดยการบีบอัดแบบเครื่องยนต์ดีเซลมาใช้กับเครื่องยนต์เบนซินได้

SKYACTIV-X

          ทำไม SKYACTIV-X ยังสำคัญ ?

          การพัฒนาเทคโนโลยีนี้ของ Mazda เป็นการมองและวิเคราะห์ถึงการปล่อยมลพิษของยานยนต์ทั้งระบบตั้งแต่ต้นทาง (แหล่งพลังงาน เช่น บ่อน้ำมัน) จนถึงปลายทาง (รถยนต์) แบบ Well-to-Wheel ไม่ใช่แค่มองที่ปลายทาง (แม้รถยนต์ไฟฟ้าจะไร้มลพิษจริง แต่ถ้าตราบใดที่โรงงานไฟฟ้ายังปล่อยมลพิษ เช่น โรงงานไฟฟ้าถ่านหินก็ใช่ว่าจะไร้มลพิษแบบ 100 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งหลายฝ่ายรู้แต่เลือกที่จะข้ามไม่พูดถึง)

          แน่นอนว่า Mazda เองมีแผนที่จะเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งแหล่งผลิตกระแสไฟฟ้าก็ควรเป็นพลังงานสะอาดตั้งแต่ต้นเช่นกัน อีกทั้ง Mazda จะเพิ่มรถยนต์ไฮบริดและปลั๊ก-อินในปี 2020 แต่รถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายในจะยังคงเป็นรูปแบบหลักต่อไปก่อนในสัดส่วนประมาณ 85 เปอร์เซ็นต์ จนถึงปี 2035

SKYACTIV-X

SKYACTIV-X

          นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไม Mazda จึงต้องพัฒนาเทคโนโลยี SKYACTIV-X ที่จะช่วยลดคาร์บอนไดออกไซด์ทั้งระบบตั้งแต่ well-to-wheel ได้มากถึง 50 เปอร์เซ็นต์ในปี 2030 (เทียบกับปี 2010) และเพิ่มสูงสุดถึง 90 เปอร์เซ็นต์ในปี 2050

          เครื่องยนต์ SKYACTIV-X ทำงานอย่างไร ?

          ในเครื่องยนต์เบนซินปัจจุบัน เชื้อเพลิงกับอากาศถูกผสมในห้องเผาไหม้และจุดระเบิดด้วยประกายไฟจากหัวเทียน แต่สำหรับเครื่องยนต์ดีเซลนั้น เชื้อเพลิงกับอากาศจะถูกบีบอัดและจุดระเบิดได้ด้วยตัวเองโดยแรงอัดรวมถึงความร้อน อีกทั้งยังให้อัตราส่วนของพลังงานที่เกิดขึ้นมากกว่าจึงใช้เชื้อเพลิงได้บางลง (เพิ่มอากาศ) ส่งผลให้มีอัตราสิ้นเปลืองที่ดี

SKYACTIV-X

SKYACTIV-X

          อย่างไรก็ตามแม้ว่าเครื่องยนต์ดีเซลจะปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์น้อยกว่าเบนซินก็จริง แต่ข้อเสียคือปล่อยอนุภาคเล็ก ๆ ออกมาด้วยในปริมาณมาก ซึ่งเป็นสาเหตุปัญหาของฝุ่นละอองและมลพิษ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีตัวกรองอนุภาคติดตั้งในรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล

SKYACTIV-X

          ทั้งนี้ความโดดเด่นของเครื่องยนต์ดีเซลอยู่ที่การให้แรงบิดสูงในรอบต่ำซึ่งปัจจุบันมักอาศัยเทอร์โบเข้าช่วย แต่เครื่องยนต์เบนซินนั้นก็ลากรอบเครื่องยนต์ได้สูงและให้แรงม้าได้มากกว่าในช่วงรอบการทำงานที่สูง ซึ่งเครื่องยนต์ SKYACTIV-X สามารถให้ได้ทั้งสองอย่างด้วยเทคโนโลยีที่ Mazda เรียกว่า Spark Controlled Compression Ignition (SPCCI) สำหรับเครื่องยนต์เบนซิน

          โดยเครื่องยนต์เบนซิน SKYACTIV-X ของ Mazda สามารถใช้การบีบอัดให้ส่วนผสมระหว่างเชื้อเพลิงกับอากาศที่บางมาก แต่ยังต้องอาศัยประกายไฟจากหัวเทียนอยู่ ซึ่งส่วนผสม (เชื้อเพลิงและอากาศ) จะมีอุณหภูมิและแรงดันสูงขึ้นจากการบีบอัดจนจุดระเบิดเหมือนเครื่องยนต์ดีเซล จึงทำให้การเผาไหม้รวดเร็วและหมดจดได้ในทันทีกว่าเครื่องยนต์เบนซินปกติ ส่งผลให้

          - เครื่องยนต์ SKYACTIV-X ใช้เชื้อเพลิงได้อย่างมีประสิทธิภาพเหนือกว่า SKYACTIV-G ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ และใช้เชื้อเพลิงไม่มากไปกว่า SKYACTIV-D ขนาด 1.5 ลิตร ที่วางใน Mazda 2 ปัจจุบันในการใช้งานจริง (ไม่ใช่แค่การทดสอบในห้องทดลอง)

          - เครื่องยนต์ SKYACTIV-X ขนาดความจุ 2.0 ลิตร ให้กำลังมากขึ้น และให้แรงบิดสูงกว่า SKYACTIV-G ขนาดความจุ 2.0 ลิตร ถึง 30 เปอร์เซ็นต์ (ใน Mazda 3)

          - เมื่อจับคู่กับเกียร์ธรรมดา 6 สปีด หรือเกียร์อัตโนมัติ 6 สปีด เครื่องยนต์ SKYACTIV-X จะให้การตอบสนองทันทีที่เท้าเหยียบคันเร่งเหมือนเครื่องยนต์เทอร์โบดีเซล แต่รอบการทำงานของเครื่องยนต์นั้นจะไม่แตกต่างจากเครื่องยนต์เบนซินหายใจธรรมดาเลย

          - เครื่องยนต์ SKYACTIV-X ถูกดีไซน์มาให้ใช้งานได้ทั้งแบบ Stand-alone หรือทำงานประสานกับมอเตอร์ไฟฟ้า สำหรับรถยนต์ไฮบริด (HEV) หรือปลั๊ก-อิน ไฮบริด (PHEV) ได้ด้วย

SKYACTIV-X

SKYACTIV-X

          All-new Mazda 3 ใหม่ ซึ่งมาพร้อมเทคโนโลยี SKYACTIV-X น่าจะเปิดตัวในปี 2019 แน่นอนแล้ว แต่สำหรับไทยอาจต้องดีเลย์ออกไปอีกหน่อยเป็นเรื่องปกติ

คลิป :



ภาพจาก Mazda

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ทำไม Mazda พัฒนาเครื่องยนต์ SKYACTIV-X ในยุคที่รถไฟฟ้ากำลังจะบูม ?​ อัปเดตล่าสุด 29 มกราคม 2561 เวลา 13:13:58 18,043 อ่าน
TOP