x close

Nissan ฉลอง 84 ปี ยอดขายรวม 150 ล้านคัน แต่กว่าจะถึงวันนี้ไม่ง่าย

nissan

          Nissan ฉลองผลิตรถยนต์ครบ 150 ล้านคัน ภายในระยะเวลา 84 ปี นับตั้งแต่ Nissan Motor Co., Ltd. ได้ถือกำเนิดขึ้นในปี 1933 แต่กว่า Nissan จะประสบความสำเร็จและยิ่งใหญ่อย่างวันนี้พูดเลยว่าไม่ง่ายและต้องฝ่าฟันมาเยอะ

          Nissan Motor Co., Ltd. ประกาศฉลองความสำเร็จผลิตรถยนต์ทั่วโลกผ่านหลัก 150 ล้านคัน นับตั้งแต่ Nissan Motor Co., Ltd. ได้ถือกำเนิดขึ้นในปี 1933 โดยกว่าจะผ่านช่วง 100 ล้านคันแรกนั้น Nissan ต้องใช้เวลานานถึง 73 ปี แต่หลังจากที่ Nissan ควบรวมกับ Renault ของฝรั่งเศสในปี 1999 เหมือนฟ้าหลังฝน นับจากปี 2006 ถึงปัจจุบัน Nissan ผลิตรถยนต์ออกสู่ตลาดได้มากถึง 50 ล้านคัน ซึ่งเป็นระยะเวลาแค่ 11 ปี เท่านั้น และนี่คือเรื่องราวความเป็นมาคร่าว ๆ ของ Nissan ตั้งแต่เริ่มต้นก่อนจะมาถึงวันนี้ที่ประสบความสำเร็จอีกครั้ง
          ปี 1933 - จุดเริ่มต้นของ Nissan Motor Co., Ltd.

nissan

nissan

nissan

ความจริงก่อนที่จะมาเป็น Nissan ต้องย้อนเวลาถอยกลับไปอีก 22 ปี ตอนนั้นยังไม่ได้ใช้ชื่อ Nissan แต่เกิดจากการรวมตัวของ 3 บริษัท เริ่มต้นจาก Kwaishinsha Co., ที่นับว่าเป็นผู้บุกเบิกของอุตสาหกรรมยานยนต์ในญี่ปุ่นเลยทีเดียว (Toyota ยังเป็นวุ้นอยู่) โดยนาย Masujiro Hashimoto และรถคันแรกได้ออกสู่ตลาดเมื่อปี 1914 ใช้ชื่อว่า Dat Car เป็นรถยนต์นั่งทรงกล่องขนาดเล็ก ตัวถังแบบ Phaeton (คล้าย Austin 7 ส่วนชื่อ Dat มาจากอักษรย่อของบุคคล 3 คน ที่เป็นแบ็กให้ Masujiro Hashimoto คือ Kenjiro Den, Rokuro Aoyama and Meitaro Takeuchi)

nissan


          จากนั้นในปี 1919 บริษัท Jitsuyo Jidosha Co., Ltd., ซึ่งเป็นบรรพบุรุษอีกฝั่งของ Nissan ได้เกิดขึ้น ทำธุรกิจประกอบรถยนต์ Gorham 3 ล้อ และ 4 ล้อขาย โดยชิ้นส่วนนำเข้ามาจากอเมริกา อีกทั้งโรงงานก็นับว่าทันสมัยในยุคนั้นและนั่นคงเป็นแรงดึงดูดให้ Kwaishinsha Co., กับ Jitsuyo Jidosha Co., Ltd., ควบรวมเข้าด้วยกันเป็นบริษัท Dat Jidosha Seizo Co., ในปี 1926 หลังจากนั้น 5 ปี Dat Jidosha Seizo ได้เข้าไปอยู่ในเครือ Tobata Casting Company โรงงานขึ้นรูปโลหะขนาดใหญ่ (ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1910) และเป็นส่วนสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์อุตสาหกรรมยานยนต์ญี่ปุ่น ซึ่ง Tobata Casting Company ได้ผลิตชิ้นส่วนให้กับ DAT Jidosha Seizo รวมถึงรถ Ford และ GM ที่เข้ามาตั้งโรงงานในญี่ปุ่นอีกด้วย

nissan

          ในยุคนั้นทั้ง 3 บริษัทน่าจะมีศักยภาพมากพอควร รัฐบาลญี่ปุ่นถึงกับเสนอให้ทั้ง 3 บริษัทร่วมค้ากับ Tokyo Gas and Electric Industrial Co. (ปัจจุบันคือ Tokyo Gas) เพื่อทำให้มีอำนาจควบคุมในเชิงเศรษฐกิจมากขึ้นและผลิตรถในแบบมวลรวมหรือ Mass Production จำหน่ายภายในญี่ปุ่น แต่ Yoshisuke Aikawa ผู้ก่อตั้ง Tobata Casting Company ปฏิเสธข้อเสนอนี้ หลังจากนั้น Aikawa นำเข้าเครื่องจักรขึ้นรูปโลหะจากอเมริกาเข้ามาเองได้สำเร็จ จึงตั้งแผนกยานยนต์และเริ่มผลิตรถยนต์ Datsun ในปี 1933 ซึ่งปลายปีนั้นเองได้มีการก่อตั้งบริษัทใหม่ในชื่อว่า Nissan Motor Co.,Ltd. พร้อมโรงงานอันทันสมัยสำหรับผลิตรถยนต์ในแบบ Mass Production (ที่เอา Design Plan ของโรงงานมาจากอเมริกา) ในโยโกฮามา

nissan

          เหมือนทุกอย่างจะไปได้สวยแต่ไม่นานสงครามโลกครั้งที่สองก็เกิดขึ้น โรงงานของ Nissan จำเป็นต้องเปลี่ยนจากผลิตรถยนต์รถนั่งขนาดเล็ก (Datsun) ไปผลิตรถบรรทุกเพื่อใช้ในทางการทหารช่วงสงครามโลกไปจนถึงเครื่องยนต์เครื่องบินรบและเรือตอร์ปิโด ถึงแม้ว่าสุดท้ายโรงงานของ Nissan จะรอดพ้นจากอาวุธปล่อย (ระเบิด) ในการโจมตีทางอากาศ แต่โรงงานครึ่งหนึ่งของ Nissan ก็ถูกยึดหลังจากสงครามสิ้นสุดลงอยู่นานเกือบ 10 ปี ทำให้ Nissan แทบจะกลายเป็นอัมพาตไปเลยทีเดียว ตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ที่เป็นเครือข่ายของ Nissan เดิมก็เปลี่ยนไปจำหน่าย Toyota (Toyota เกิดแล้วช่วงยุค 30 พร้อม ๆ กับ Nissan) โดยตอนนั้น Toyota แทบจะเข้าข่าย Monopoly หรือการผูกขาดทางการค้าไปเลย

          ปี 1945 - Nissan กลับมาผลิตรถบรรทุกและรถยนต์นั่งอีกครั้งในปี 1947

nissan

          แต่เรื่องดราม่าก็เกิดกับ Nissan ไม่หยุดหย่อน ในปี 1953 แรงงานในโรงงานเกิดพร้อมใจกันประท้วงและยืดเยื้อยาวนานถึง 100 วัน เหตุการณ์ที่เลวร้ายครั้งนั้นของ Nissan นำมาซึ่งการบริหารจัดการแรงงานสมัยใหม่ที่ให้ความสำคัญกับการไว้เนื้อเชื่อใจ เคารพซึ่งกันและกัน (Mutual Trust) ในที่สุด

          ปี 1958 - Nissan ได้เริ่มขยายตลาดออกนอกญี่ปุ่น

nissan

nissan

          ด้วยการส่งรถยนต์ Nissan ไปจำหน่ายในอเมริกาและรถรุ่นนั้นคือ Datsun 210 หรือ Bluebird เวอร์ชั่นแรกที่ใช้พื้นฐานร่วมกับรถอังกฤษอย่าง Austin A50 Cambridge รถรุ่นนี้สร้างชื่อเสียงให้กับ Nissan จากการเข้าร่วมการแข่งขัน Australian Rally และคว้าชัยชนะมาได้ในคลาสของตนเอง อีกทั้ง Nissan ยังเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายแรกในญี่ปุ่นได้รับรางวัล เดมมิ่ง ไพรซ์ (Deming Prize) ซึ่งสำคัญกับ Nissan มาก เพราะเกี่ยวกับการควบคุมคุณภาพสินค้าอย่างมีระบบในแวดวงอุตสาหกรรม จึงสามารถผลิตสินค้าคุณภาพดีราคาถูกส่งไปตีตลาดทั่วโลกได้ ทำให้ Nissan ค่อย ๆ เติบโตขึ้น

          ปี 1961 - นโยบายเปิดเสรีการลงทุนทางการเงินในญี่ปุ่นยิ่งทำให้ Nissan เติบโตได้เร็วขึ้น

nissan

nissan

nissan

          Nissan ได้เปิดโรงงานผลิตรถยนต์อันทันสมัยอย่างโรงงานโอปปามะ ที่จังหวัดคะนะงะวะ ประเทศญี่ปุ่น ต่อด้วยโรงงานซามะ ในปี 1965 และในปี 1966 Nissan ได้ควบรวมกิจการกับ Prince Motor Co., Ltd., (เจ้าของรถหรูอย่าง Skyline ก่อนจะกลายเป็นภาพจำของรถซิ่งในปัจจุบัน) และในปีเดียวกันนี้ Nissan ยังได้เปิดตัว Nissan Sunny เป็นครั้งแรกในญี่ปุ่น ยิ่งเร่งให้รถเล็กในญี่ปุ่นเติบโตแบบพรวด ๆ มากขึ้น

          ปี 1970 - ช่วงขาขึ้นของ Nissan ไม่ได้จำกัดแค่ในญี่ปุ่น

nissan

nissan

          ทางฝั่งอเมริกาเองรถ Nissan ก็โตไวเว่อร์ในฐานะรถเล็กคุณภาพดีสุดประหยัดจากญี่ปุ่นผ่านสโลแกนทางการตลาด "Datsun saves" ดีไซน์ก็ไม่ธรรมดาเพราะอย่าง Datsun Bluebird 410 ออกแบบโดย Pininfarina สไตล์จึงเป็นอิตาลีมาก หรือ Datsun Bluebird 510 รุ่นต่อมาก็ฮิตระเบิด (ต่างประเทศเรียก BMW คนจน ส่วนบ้านเราเรียกดัทสันเพลาลอยเพราะระบบกันสะเทือนด้านหลังแบบ เซมิ-เทรลลิ่งอาร์ม)

nissan

          และรถที่สร้างชื่อเสียงให้กับ Nissan มากอีกหนึ่งรุ่นช่วงนั้นคือ Datsun 240Z ซึ่งดีไซน์แปลกตาไปจากรถสปอร์ตญี่ปุ่นในยุคเดียวกันแบบที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนคือการเป็นรถสปอร์ตหน้ายาวท้ายสั้น (ยกเว้น Toyota 2000 GT ที่ลอกแบบกันมาเพราะแบบหลุดไป Toyota และชิงเปิดตัวก่อนเนื่องจาก Nissan ยกเลิกโปรเจคท์ 2000GT กลางคัน เพิ่งเอากลับมาปัดฝุ่นใหม่ตอน Yutaka Katayama ต้องการรถสปอร์ตสักรุ่นเป็นหัวหอกเพื่อสร้างภาพลักษณ์ในอเมริกาให้กับ Nissan

          ความจริงแล้วรถสปอร์ตทั้งสองรุ่นไม่ใช่คนญี่ปุ่นที่ตั้งต้นออกแบบแต่เป็น Albrecht von Goertz คนที่ออกแบบ BMW 507 (Nissan จ้างมาให้ออกแบบรถสปอร์ตโปรเจคท์ 2000GT) ซึ่งคลั่ง Jaguar E-Type มากรถทั้งสองคันจึงมีสไตลิ่งเดียวกัน สไตล์ที่ญี่ปุ่นไม่เคยมีมาก่อน) ทำเอาทั้ง Ford Mustang และ Chevy Camaro ตอนนั้นหงายเงิบไปเลยเพราะดูถูกรถสปอร์ต Nissan ไว้เยอะก่อนเปิดตัว (ขณะที่ Toyota 2000GT ไม่ปังเท่าและขายไม่ดีเพราะราคาแพงเว่อร์ เลยทำให้ปัจจุบันเลอค่ามาก)

          ปี 1999 – Nissan ขาลงและนำมาซึ่งการการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ

          จากที่ทุกอย่างเหมือนจะเป็นไปด้วยดีไม่มีปัญหาอะไร แต่พอเข้าสู่ปลายยุค 90 สถานการณ์ทางการเงินของ Nissan ส่อแววว่าจะไปไม่รอดชัดเจน ระหว่างนั้นจึงมีการเจรจากับกลุ่ม DaimlerChrysler แต่ไม่สำเร็จ Nissan อกหักอย่างแรง แต่นั่นอาจเป็นโชคดีเพราะในที่สุดก็มีอัศวินขับ Renault มาช่วย Nissan พร้อมเงินก้อนโตราว 5.6 พันล้านดอลลาร์ แลกกับที่ Renault ได้ถือหุ้นของ Nissan 36.8 เปอร์เซ็นต์ ช่วงต้นปี 1999 เรียกว่ามากสุดในประวัติศาสตร์ของบริษัทต่างชาติที่ได้ถือหุ้นในบริษัทรถยนต์ของญี่ปุ่นช่วงนั้นเลยก็ว่าได้ และช่วงแรก Carlos Ghosn นั่งเก้าอี้เป็นเบอร์สอง โดยยังคงให้ Yoshikazu Hanawa ประธานคนเดิมเป็นเบอร์หนึ่งอยู่ในผัง

nissan


nissan

nissan

          แผนฟื้นฟูกู้วิกฤต Nissan ถูกกำหนดในทันทีและได้ประกาศออกมากลางเดือนตุลาคม ปี 1999 มีการปรับโครงสร้างใหม่เพื่อให้ Nissan กลับมามีผลกำไรในระยะยาวอีกครั้ง จากนั้นแผนธุรกิจอีกหลายแผนตามออกมาอีกหลายแผนอย่างต่อเนื่อง ฉุดให้ Nissan กลับมามีกำไรและขายรถได้มากขึ้นทั้งการสร้างแบรนด์ ควบคุมคุณภาพ เพิ่ม Line-up กู้ศรัทธาสารพัดวิธีแบบ 360 องศา ซึ่งทุกอย่างที่วางไว้ทำให้ Nissan กลับมาโตวันโตคืน รถที่เด่นสร้างชื่อให้ Nissan ในยุคหลังจาก Renault เข้ามาคงจะหนีไม่พ้น Nissan GT-R และการมองการณ์ไกลไปถึงอนาคตอย่าง Nissan Leaf ที่เป็นรถไฟฟ้าล้วน (EV) ทั้งหมดเป็นส่วนหนึ่งในแผนกู้วิกฤติของ Nissan และไม่ใช่เรื่องบังเอิญ

          ปี 2006 ถึงปัจจุบัน – Nissan สามารถผลิตรถยนต์ออกสู่ตลาดได้มากถึง 50 ล้านคัน

          เพียงแค่ไม่กี่ปี Nissan กลับมามีกำไรรวดเร็วมากนับตั้งแต่ Renault เข้ามาช่วยโอบอุ้มได้ไม่นาน (แม้ในไทยจะเงียบ ๆ เสียเป็นส่วนใหญ่เพราะ Nissan อาจโฟกัสกับภาพใหญ่มากกว่า อีกทั้งตลาดในประเทศไทยก็จัดได้ว่าปราบเซียน ต้องอาศัยความเข้าใจและการปรับตัวตลอดเวลาสูตรสำเร็จเดิม ๆ อาจไม่ได้ผลเสมอไป) ด้วยแผนธุรกิจหลายแผนที่วางไว้ โดยหลังจากปี 2006 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน Nissan ทั่วโลกสามารถผลิตรถยนต์ออกสู่ตลาดได้เป็นจำนวนมากถึง 50 ล้าน คัน ภายในระยะเวลาเพียง 11 ปี เท่านั้น แต่ไม่ว่าตอนนี้ Nissan จะกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้งก็จะยังพัฒนาและสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่องตามแนวคิด Monozukuri ต่อไปไม่สิ้นสุด

nissan

          ปัจจุบัน Nissan กลับมาอยู่ในช่วงเวลาที่อาจเรียกว่าสวยงามได้อีกครั้ง แต่อนาคตที่น่าจับตาคงไม่ใช่แค่ Nissan เท่านั้น เพราะกลุ่ม Renault-Nissan-Mitsubishi ตั้งเป้าว่าจะเป็นเบอร์ 1 ของกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์โลกเลยทีเดียว (ครึ่งแรกปี 2017 ทำสำเร็จแล้วยอดขายรวมแซงหน้ากลุ่ม VW และ Toyota) แต่จะยาวนานแค่ไหนต้องติดตามตอนต่อไปนับจากนี้

https://www.youtube.com/embed/xK6CQqY4YJk?feature=oembed

ภาพจาก Nissan และ japanesenostalgiccar
คลิปจาก Nissan
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
Nissan ฉลอง 84 ปี ยอดขายรวม 150 ล้านคัน แต่กว่าจะถึงวันนี้ไม่ง่าย อัปเดตล่าสุด 25 กันยายน 2560 เวลา 22:24:55 4,317 อ่าน
TOP