x close

สรุปยอดขายรถครึ่งปีแรก 2559 ได้ 367,481 คันลดลง 0.4% ปรับเป้าสิ้นปี 740,000 คัน



          โตโยต้าปรับประมาณการตลาดรถยนต์ในประเทศปี 2559 คาดยอดขายรวมอยู่ที่ 740,000 คัน ลดลง 7.5% พร้อมยืนยันประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตที่สำคัญในภูมิภาค

          ​นายเคียวอิจิ ทานาดะ เจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด แถลงสถิติการจำหน่ายรถยนต์ครึ่งแรกของปี 2559 พร้อมปรับประมาณการตลาดรถยนต์ไทยปี 2559 เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2559 ณ ห้องบอลรูม โรงแรมโอกุระ เพรสทีจ กรุงเทพฯ 


          นายทานาดะ กล่าวว่า “สืบเนื่องมาจากเศรษฐกิจในประเทศไทยยังคงอยู่ในสภาวะชะลอตัวประกอบกับความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ทำให้ตลาดรถยนต์ในครึ่งปีแรกของปี 2559 มียอดขายรวมประมาณ 367,481 คัน ลดลง 0.4% โดยตลาดรถเพื่อการพาณิชย์มียอดขายเพิ่มขึ้น 7.6% ตลาดรถยนต์นั่งมียอดขายลดลง 12.6%”

สถิติการขายรถยนต์ ครึ่งแรกของปี 2559

ปริมาณการขาย

​ ​
(คัน)

เปลี่ยนแปลง

​เ
มื่อเทียบกับครึ่งปีแรกของ
​ ​
2558
  • ปริมาณการขายรวม

367,481 คัน

-0.4%

  • รถยนต์นั่ง

128,310 คัน

-12.6%

  • รถเพื่อการพาณิชย์

239,171 คัน

+7.6%

  • รถกระบะ 1 ตัน (รวมรถกระบะดัดแปลง)

192,558 คัน

+12.2%

  • รถกระบะ 1 ตัน (ไม่รวมรถกระบะดัดแปลง)

160,419 คัน

+2.7%


          โดยโตโยต้ามียอดขาย 109,078 คัน ลดลง 11.4% แบ่งเป็นรถยนต์นั่ง 35,700 คัน ลดลง 33.0%​ 
รถเพื่อการพาณิชย์ 73,378 คัน เพิ่มขึ้น 5.1% และรถกระบะ 1 ตัน (รวมรถกระบะดัดแปลง)

          ซึ่งเป็นส่วนหนึ่ง
ของยอดขายรถเพื่อการพาณิชย์ 69,678 คัน เพิ่มขึ้น 8.1% ทั้งนี้โตโยต้าขอขอบคุณภาครัฐที่ได้มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจนทำให้ตลาดรถยนต์ครึ่งปีแรกสามารถอยู่ในระดับเดียวกับปีที่แล้ว



สถิติการขายรถยนต์ของโตโยต้า ครึ่งแรกของปี 2559


          - ปริมาณการขายโตโยต้า 109,078 คัน ลดลง 11.4% ส่วนแบ่งตลาด 29.7%
          - รถยนต์นั่ง 35,700 คัน​ ลดลง 33.0% ส่วนแบ่งตลาด 27.8%
          - รถเพื่อการพาณิชย์ 73,378 คัน เพิ่มขึ้น 5.1%  ส่วนแบ่งตลาด 30.7%
          - รถกระบะ 1 ตัน (รวมรถกระบะดัดแปลง) 69,678 คัน เพิ่มขึ้น 8.1% ส่วนแบ่งตลาด 36.2% 
รถกระบะ 1 ตัน (ไม่รวมรถกระบะดัดแปลง) 54,864 คัน ลดลง 7.6% ส่วนแบ่งตลาด 34.2%

          สำหรับการส่งออกในครึ่งปีแรก โตโยต้าได้ส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปจำนวน 166,299 คัน คิดเป็นมูลค่า 96,953 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น 26% และมีการส่งออกชิ้นส่วน มูลค่า 31,335 ล้านบาท รวมเป็นมูลค่าการส่งออกที่ 128,288 ล้านบาท

          สำหรับแนวโน้มตลาดรถยนต์ของปี 2559 ​นายทานาดะ คาดการณ์ว่า "ถึงแม้ว่าครึ่งปีหลังจะมีแรงบวกจากนโยบายของภาครัฐ การท่องเที่ยว ภาคบริการ และการลงทุนจากภาคเอกชน รวมถึงการแนะนำผลิตภัณฑ์ใหม่จากหลายค่ายรถยนต์ จะเริ่มส่งผลดีต่อภาพรวมของเศรษฐกิจและตลาดรถยนต์ หากแต่เศรษฐกิจในประเทศที่ชะลอตัวต่อเนื่องมาอย่างช้านาน รวมถึงกำลังซื้อที่จำกัด และความไม่แน่นอนจากเศรษฐกิจโลก ยังคงต้องใช้ระยะเวลาในการฟื้นตัว ดังนั้นแนวโน้มของตลาดรถยนต์ในประเทศปีนี้จะมียอดขายรวมทั้งหมดอยู่ที่ 740,000 คัน

ยอดขายรถยนต์ 2559

ประมาณการยอดขายรถยนต์ในประเทศ ปี 2559

          - ปริมาณการขายรวม                                740,000 คัน        ลดลง     7.5%
          - รถยนต์นั่ง                                           271,000 คัน        ลดลง     9.5%
          - รถเพื่อการพาณิชย์                                  469,000 คัน        ลดลง     6.3%
          - รถกระบะ 1 ตัน (รวมรถกระบะดัดแปลง)           379,000 คัน        ลดลง     4.5%
          - รถกระบะ 1 ตัน (ไม่รวมรถกระบะดัดแปลง)         318,000 คัน        ลดลง     3.0%

          โดยโตโยต้ายังคงเป้าหมายการขายสำหรับตลาดรถยนต์ในประเทศปีนี้ไว้ที่ 240,000 คัน แบ่งเป็นรถยนต์นั่ง 85,000 คัน รถเพื่อการพาณิชย์ 155,000 คัน และ รถกระบะ 1 ตัน (รวมรถกระบะดัดแปลง) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของยอดขายรถเพื่อการพาณิชย์ 145,400 คัน และได้ปรับเป้าหมายการส่งออกไว้ที่ 312,000 คัน ลดลง 17% เนื่องจากผลกระทบของตลาดในกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง”

ประมาณยอดขายรถยนต์ในประเทศของโตโยต้า ปี 2559

          - ปริมาณการขายรวม                             240,000 คัน        ส่วนแบ่งตลาด 32.4%
          - รถยนต์นั่ง                                       85,000 คัน        ส่วนแบ่งตลาด 31.4%
          - รถเพื่อการพาณิชย์                             155,000 คัน        ส่วนแบ่งตลาด 33.0%
          - รถกระบะ 1 ตัน (รวมรถกระบะดัดแปลง)       145,400 คัน        ส่วนแบ่งตลาด 38.4%
          - รถกระบะ 1 ตัน (ไม่รวมรถกระบะดัดแปลง)    117,000 คัน        ส่วนแบ่งตลาด 36.8%



          ​นายทานาดะ กล่าวเพิ่มเติมว่า “แน่นอนว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยยังคงต้องการการสนับสนุนจากภาครัฐ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ทั้งตลาดในประเทศและการส่งออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งรถยนต์พลังงานทางเลือกและเทคโนโลยีขั้นสูงที่จะเข้ามามีบทบาทสำคัญมากขึ้นในสังคมยานยนต์แห่งอนาคต ซึ่งโตโยต้าพร้อมที่จะพัฒนาและต่อยอดเทคโนโลยี อันจะนำไปสู่ผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ”

​          นายทานาดะ กล่าวย้ำเชื่อมั่นประเทศไทย “ผมขอยืนยันว่า ประเทศไทยยังเป็นศูนย์กลางการผลิตที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของโตโยต้า และเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนตลาดของภูมิภาคนี้ นอกจากนี้โตโยต้ายังคงมุ่งมั่นที่จะยกระดับขีดความสามารถของคนไทยที่มีต่อการผลิตให้เป็นที่ยอมรับ และได้รับความเชื่อถือในระดับสากลทั้งในด้านการวิจัยและพัฒนา ที่ปัจจุบันคนไทยเข้ามาเป็นหลักในการร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์ในภูมิภาคนี้มากขึ้น รวมถึงการสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านวิศวกรรมการผลิต เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของภูมิภาคนี้ ทั้งนี้ เรายังคงมุ่งเน้นการส่งเสริมการเพิ่มใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศมากขึ้น ด้วยการพัฒนาผู้ผลิตชิ้นส่วนโตโยต้าในประเทศไทย ตลอดจนการถ่ายทอดนวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านการผลิตระดับสูง เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย



          อีกทั้ง ในปีนี้บริษัท สยามโตโยต้าอุตสาหกรรม จำกัด หรือ STM ซึ่งเป็นฐานการผลิตเครื่องยนต์หลักของโตโยต้าในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ได้ทำการผลิตเครื่องยนต์ครบ 10 ล้านเครื่อง ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นโรงงานผลิตเครื่องยนต์ลำดับสองต่อจากโรงงานในรัฐเคนทักกี ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ผลิตครบ 10 ล้านเครื่อง นับเป็นการยืนยันถึงความสำคัญของประเทศไทยในการเป็นฐานการผลิตหลักของโตโยต้าในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกอีกด้วย”

          “ถึงแม้ว่าปีนี้จะเป็นอีกหนึ่งปีแห่งความยากลำบาก แต่โตโยต้าจะอยู่เคียงคู่กับคนไทยด้วยความเชื่อมั่นในความพร้อมและฝีมือของคนไทย โดยเราจะร่วมกันพัฒนาและยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย เพื่อให้ประเทศไทยเติบโตและพัฒนาอย่างยั่งยืน” ​นายทานาดะกล่าว ในที่สุด    











เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สรุปยอดขายรถครึ่งปีแรก 2559 ได้ 367,481 คันลดลง 0.4% ปรับเป้าสิ้นปี 740,000 คัน อัปเดตล่าสุด 5 สิงหาคม 2564 เวลา 10:20:27 4,908 อ่าน
TOP