x close

Nissan ตั้งศูนย์ R&D ในไทย ลงทุนกว่าพันล้านบาท

ศูนย์ R&D

          Nissan เปิดศูนย์ R&D ในประเทศไทย เพิ่มศักยภาพแข่งขัน เปิดศูนย์วิจัยพัฒนายานยนต์ในไทย สนับสนุนฐานการผลิตในภูมิภาคเซียนรองรับตลาด ใน 90 ประเทศทั่วโลก

          บริษัท นิสสัน มอเตอร์ เอเชีย แปซิฟิค จำกัด สำนักงานใหญ่ของ นิสสัน ในภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิค ยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ขยายขอบข่ายการดำเนินงานของศูนย์วิจัยพัฒนายานยนต์ ในประเทศไทย ให้ครอบคลุม และเพิ่มศักยภาพการออกแบบและพัฒนารถยนต์
ศูนย์ R&D

          เปิดศูนย์วิจัยพัฒนายานยนต์ (Nissan Motor Asia Pacific R&D Test Center) พร้อมห้องทดสอบยานยนต์ล้ำสมัย เป็นแห่งแรกในอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ด้วยเงินลงทุนกว่า 1,000 ล้านบาท พร้อมดูแลการวิจัยและพัฒนาใน 5 ประเทศ ในภูมิภาคอาเซียน

          นาย ฮิโรชิ นากาโอกะ รองประธานบริหาร บริษัท นิสสัน มอเตอร์ จำกัด  ได้กล่าวว่า ปัจจุบันนิสสัน มีฐานการวิจัยพัฒนา อยู่ใน 13 ประเทศทั่วโลก โดยศูนย์วิจัยพัฒนายานยนต์แห่งใหม่ในประเทศไทยนี้  จะทำหน้าที่สนับสนุนฐานการผลิต ของนิสสัน 7 แห่ง ใน 5 ประเทศภูมิภาคอาเซียน คือ ประเทศไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และเวียดนาม รองรับการพัฒนารถยนต์ เพื่อตอบสนองตลาดใน กว่า 90 ประเทศทั่วโลก

ศูนย์ R&D

          ด้านนายคะซุทากะ นัมบุ ประธาน บริษัท นิสสัน มอเตอร์ ประเทศไทย กล่าวว่า การเปิดศูนย์วิจัยพัฒนายานยนต์ แห่งใหม่ของบริษัท นิสสัน มอเตอร์ เอเชีย แปซิฟิค นี้ ไม่เพียงแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของประเทศไทยที่มีต่อนิสสันเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการพัฒนาในภาพรวมของอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทย และยังจะช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องเป็นจำนวนมาก

ศูนย์ R&D

          มีวิศวกรชาวไทยมากกว่า 300 คน ปฏิบัติงานในศูนย์วิจัยและพัฒนาแห่งนี้ และเพื่อรองรับต่องานวิจัยพัฒนาในก้าวต่อไปของนิสสัน ได้ส่งวิศวกรชาวไทยประมาณ 100 คน ไปร่วมงานกับทีมวิศวกรของนิสสันทั่วโลก ซึ่งบุคลากรของไทย ได้รับการยอมรับถึงศักยภาพและทักษะด้านวิศวกรรมที่สูงมาก

          ศูนย์วิจัยพัฒนายานยนต์นิสสัน ภายใต้บริษัท นิสสัน มอเตอร์ เอเชีย แปซิฟิค จำกัด (NMAP) ตั้งอยู่บนพื้นที่ 6,600 ตารางเมตร บนถนนบางนา-ตราด กม. 22 ก่อตั้งขึ้นด้วยเงินลงทุนกว่า 1,087 ล้านบาท โดยมีขอบข่ายการทำงานของ ครอบคลุมตั้งแต่การวางแผนวิจัยพัฒนา ทดสอบผลิตภัณฑ์ที่ครบวงจร รวมถึงการมุ่งให้เกิดการพัฒนาชิ้นส่วนภายในประเทศ

ศูนย์ R&D

          ศูนย์วิจัยพัฒนายานยนต์นิสสัน ได้รับการการออกแบบและติดตั้งเทคโนโลยีขั้นสูง โดยเฉพาะห้องทดสอบยานยนต์อาทิ

          - ห้องทดสอบสัญญาณรบกวนทางคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Anechoic chamber)
          - ห้องทดสอบคุณภาพเสียง (Acoustic chamber)
          - ห้องทดสอบประสิทธิภาพความทนทานของชิ้นส่วนรถยนต์และสมรรถนะของระบบช่วงล่างในห้องควบคุมอุณหภูมิและสภาพแวดล้อม (Vibration simulator with Environment Chamber)

ศูนย์ R&D

          ซึ่งให้ผลการทดสอบที่มีประสิทธิภาพและแม่นยำสูงสุด  และนับว่ามีความทันสมัยที่สุดในประเทศไทย

          สำนักงานใหญ่ของนิสสันประจำภูมิภาค เอเชีย แปซิฟิค ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2554 โดยศูนย์วิจัยที่ก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการนี้  ได้รับการมอบหมายให้ดำเนินการวิจัยพัฒนาและทดสอบรถยนต์รวม 12 รุ่น รวมถึงรถยนต์รุ่นหลัก ๆ ของนิสสัน นาวารา, นิสสัน อัลเมรา รวมไปถึง นิสสัน เอ็กซ์เทรล ไฮบริด

ศูนย์ R&D

รายละเอียดของห้องทดสอบยานยนต์ ในศูนย์วิจัยและพัฒนายานยนต์ของนิสสันทั้งหมด


ห้องทดสอบ (Test rooms)

ห้องทดสอบสัญญาณรบกวนทางคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Anechoic Chamber)



ครั้งแรกในประเทศไทย  ที่สามารถรองรับการทดสอบการส่งสัญญาณคลื่นรบกวนทั้งจากภายใน ที่เกิดจากการขับเคลื่อนของเครื่องยนต์ และสัญญาณคลื่นจากภายนอก ที่จะส่งผลกระทบต่อกลการทำงานของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ในเครื่องยนต์ ซึ่งให้ผลการทดสอบที่มีประสิทธิภาพและความแม่นยำสูงสุด ถือเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของนิสสัน

 

ห้องทดสอบปริมาณมลพิษจากไอเสียรถยนต์ (Chassis Dynamometer with Emission Test Room)


ทดสอบปริมาณสารมลพิษไอเสียรถยนต์ ด้วยการจำลองสถานการณ์การขับขี่เสมือนบนถนนจริง เพื่อควบคุมให้เป็นไปตามข้อกำหนดของการควบคุมค่ามาตรฐานไอเสีย และรองรับค่ามาตรฐานสูงสุดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม


ห้องทดสอบประสิทธิภาพและความคงทนของเครื่องยนต์(Engine Dynamometer Chamber)



ด้วยการใช้เทคโนโลยีการทดสอบที่สามารถใช้ได้กับเครื่องยนต์ แก๊สโซลีนและเครื่องยนต์ดีเซล และสามารถทดสอบได้ต่อเนื่องมากกว่า 1,000   ชม. พร้อมทั้งสามารถวิเคราะห์ประสิทธิภาพการ      เผาไหม้ของเครื่องยนต์ และปรับตั้งค่าให้ได้ตามมาตรฐานที่กำหนด


ห้องทดสอบประสิทธิภาพความทนทานของชิ้นส่วนรถยนต์และระบบช่วงล่างในห้องควบคุมอุณหภูมิและสภาพแวดล้อม

(Vibration Simulator and Environment Chamber)



นับเป็นการทดสอบในห้องควบคุมอุณหภูมิและสภาพแวดล้อม ที่สมบูรณ์แบบที่สุดในประเทศไทย เพื่อหาเสียงที่ผิดปกติ เช่น เสียงกระพือ เสียงเสียดสี และสั่นสะเทือน ภายใต้การขับขี่ในสภาพถนนรูปแบบต่างๆ และตรวจสอบการเสื่อมสภาพ (การเสียรูป และการเปลี่ยนสี) ของชิ้นส่วนประเภทพลาสติกและยาง ทั้งภายในและภายนอกของรถยนต์


ห้องทดสอบคุณภาพเสียง  (Acoustic Chamber)



ครั้งแรกในประเทศไทย สำหรับการทดสอบคุณภาพเสียงในห้องควบคุมเสียงรบกวนจากภายนอก สำหรับใช้ทดสอบคุณภาพเสียง เพื่อค้นหาและป้องกัน เสียงรบกวนที่อาจเกิดจากการสั่นสะเทือน (Rattle Noise) ของชิ้นส่วนภายในรถยนต์  ได้แก่ บริเวณรอบๆ ลำโพงประตูรถยนต์ รวมทั้งยังสามารถจำลองสภาพการขับขี่ในเวลากลางคืน ได้อย่างสมบูรณ์แบบ เพื่อทดสอบความสว่างของแสงจากมิเตอร์ ป้องกันการรบกวนทัศนวิสัยต่อการขับขี่รถยนต์


ห้องทดสอบความทนทานของฝากระโปรงหน้าและฝากระโปรงท้าย (Door Endurance Robot)


ให้การทดสอบที่มีเสถียรภาพสูงสุด ด้วยการนำเทคโนโลยีหุ่นยนต์มาใช้ ในการทดสอบ ภายใต้การจำลองสภาพ  การใช้งานจริง ควบคุมการเปิด ปิด ด้วยระบบอัตโนมัติ ทำให้สามารถควบคุมน้ำหนัก ความแรง ระยะห่าง ความสูง ระดับความเร็วของการเปิด-ปิด และจำนวนรอบการทดสอบ ทำให้ได้ผลการทดสอบที่เที่ยงตรง แม่นยำ ตามมาตรฐานที่กำหนด
















เรื่องที่คุณอาจสนใจ
Nissan ตั้งศูนย์ R&D ในไทย ลงทุนกว่าพันล้านบาท อัปเดตล่าสุด 5 สิงหาคม 2564 เวลา 15:25:39 9,196 อ่าน
TOP