x close

15 สุดยอดรถสปอร์ตสายพันธุ์ญี่ปุ่นจากอดีตจนปัจจุบันยังต้องฝันถึง

รถสปอร์ต ญี่ปุ่น

          รวมฮิตรถสปอร์ตสายพันธุ์ญี่ปุ่น 15 รุ่น ที่เคยสร้างความประทับใจจนกลายเป็นที่ยอมรับจากคนทั่วโลกมาแล้วจากอดีตถึงปัจจุบัน

          แม้ว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ของญี่ปุ่นจะเกิดขึ้นหลังจากฝั่งตะวันตกอยู่หลายทศวรรษก็ตาม แต่จากความพยายามและความสามารถของชาติที่เคยแพ้สงครามอย่างญี่ปุ่นนั้นกลับไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์เลยแม้แต่น้อย ในทางกลับกันสิ่งเหล่านั้น ได้ช่วยสร้างความยิ่งใหญ่ให้คืนกลับมาอย่างรวดเร็วอย่างคาดไม่ถึง
 
          รถสปอร์ตสัญชาติญี่ปุ่นถือเป็นสัญลักษณ์หนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นและความสำเร็จที่เกิดขึ้นเป็นอย่างดี ถึงแม้ว่าจะมีบางช่วงที่ผ่านมารถสปอร์ตอาจลดความนิยมลงไปบ้าง แต่เมื่อผู้ผลิตรถยนต์จากญี่ปุ่นคิดจะกลับมาทวงความยิ่งใหญ่อีกครั้งก็เรียกได้ว่าไม่แพ้ชาติใดในโลกเลยทีเดียว

          ดังนั้นเราจึงรวบรวมสุดยอดรถสปอร์ตรุ่นเด่นที่โดนใจคนทั่วโลกในแต่ละช่วงเวลาจากอดีตถึงปัจจุบันมาให้รำลึกความหลังกันอีกครั้ง ส่วนจะเป็นรุ่นใดบ้างติดตามกันได้เลย

ฮอนด้า เอส500/600/800 ปี 1963 (Honda S500/600/800)

รถสปอร์ต ญี่ปุ่น

          เริ่มต้นกันด้วย Honda S500 รถสปอร์ตขนาดเล็กที่เผยโฉมครั้งแรกในงาน Tokyo Motor Show ครั้งที่ 9 ในปี 1962 และเริ่มวางจำหน่ายในปีต่อมาเพื่อเป็นคู่แข่งกับ Datsun Fairlady และ Toyota Sport 800 รวมไปถึง Dhaihatsu Compagno ซึ่งออกแบบโดยสำนักออกแบบของอิตาลีอย่าง วินญาเล่ (Vignale)

          ในขณะที่ Honda S500 นั้นได้แรงบันดาลใจจากรถอิตาลีอย่าง Innocenti 950 spider ซึ่งออกแบบโดยเกีย (Ghia) ส่วนขุมพลังสำหรับ Honda S500 นั้นใช้เครื่องยนต์ 4 สูบ DOHC ขนาด 531 ซี.ซี. จ่ายเชื้อเพลิงด้วยคาบูเรเตอร์ ที่พัฒนามาจากเครื่องยนต์มอเตอร์ไซค์ ให้กำลัง 44 แรงม้า ที่ 8,000 รอบ/นาที

          และด้วยน้ำหนักตัวรถที่มีอยู่แค่ประมาณ 700 กก. ทำให้ Honda S500 วิ่งได้เร็วถึง 130 กม./ชม. ต่อมาภายหลังได้มีการขยายความจุเป็นรุ่น S600 และ S800 ซึ่งทำความเร็วสูงสุดได้ถึง 160 กม./ชม.

โตโยต้า 2000จีที ปี 1967 (Toyota 2000GT)

รถสปอร์ต ญี่ปุ่น

          Toyota 2000GT รถสปอร์ตทรง GT คันนี้ถือเป็นแรร์ไอเทมราคาแพงระยับที่นักสะสมรถคลาสสิกทั่วโลกฝันถึงในปัจจุบัน เพราะนอกจาก Toyota 2000GT จะเป็นรถที่มีสัดส่วนโค้งเว้าสวยงามตามแบบรถสปอร์ตหน้ายาวท้ายสั้นแล้วยังผลิตออกมาในแบบจำนวนจำกัดด้วย

          โดยงานออกแบบนั้นได้รับอิทธิพลจาก Jaguar E-Type มาเต็ม ๆ เพราะผู้ออกแบบตัวจริงอย่าง อัลเบรชท์ เกิร์ตซ์ (Albrecht Goertz) นั้นหลงใหลใน Jaguar E-Type เอามาก ๆ

          อันที่จริงผลงานการออกแบบชิ้นนี้ถูกสร้างขึ้นมาสำหรับ Nissan 2000GT ก่อนที่จะเป็น Toyota 2000GT แต่ Nissan กลับปฏิเสธและยกเลิกโปรเจคท์ดังกล่าว ทำให้ Yamaha ซึ่งร่วมงานกับ Nissan ในตอนนั้นหอบเอาแบบมาทำรถสปอร์ตร่วมกับ Toyota แทน จนออกมาเป็น Toyota 2000GT ในที่สุด และจำหน่ายในราคาที่แพงมาก (แพงกว่า Porsche และ Jaguar ในยุคนั้น)

          อย่างไรก็ตามตอนนี้ Toyota 2000GT มีมูลค่าสูงกว่าในอดีตมากและกลายเป็นที่ต้องการของนักสะสมรถคลาสสิกทั่วโลก

มาสด้า คอสโม/ 110เอส ปี 1967 (Mazda Cosmo/110S)

รถสปอร์ต ญี่ปุ่น

          Mazda Cosmo หรือ 110S (ชื่อสำหรับตลาดต่างประเทศ) เป็นรถสปอร์ตสุดคลาสสิกอีกหนึ่งรุ่นที่โดดเด่นทั้งการออกแบบและเทคโนโลยี ซึ่งคล้ายกับรถสปอร์ตโรดสเตอร์สัญชาติอิตาลีอย่าง Alfa Romeo Spider ปี 1966 ที่มักนิยมเรียกกันว่า Duetto

          โดยในส่วนของขุมพลังนั้นเป็นเครื่องยนต์โรตารี่ที่ Mazda อาศัยเทคโนโลยีจาก NSU และพัฒนาต่อยอดเรื่อยมา จนปัจจุบันกลายเป็นสัญลักษณ์สำคัญของ Mazda ไปแล้ว ทั้งนี้เครื่องยนต์โรตารี่ที่ใช้ใน Mazda Cosmo เป็นแบบ 2 โรเตอร์ ขนาดความจุ 982 ซี.ซี. ให้กำลัง 110 แรงม้า (ซึ่งเป็นที่มาของชื่อรุ่น 110S)

          สามารถทำความเร็วสูงสุดได้ 185 กม./ชม. และ Mazda ยังได้ส่ง Cosmo เข้าร่วมการแข่งขัน 84 ชั่วโมง Marathon de la Route ณ สนามนูร์เบอร์กริง เพื่อเป็นการพิสูจน์ความทนทานของเครื่องยนต์โรตารี่อีกด้วย

          โดย Mazda Cosmo นั้นตั้งราคาจำหน่ายในสหรัฐอเมริกาไว้เพียง 4,100 ดอลลาร์ ถูกกว่า Toyota 2000GT ที่ตั้งไว้สูงถึง 6,800 ดอลลาร์ ในยุคนั้น

Nissan Fairlady Z(240Z) ปี 1970

รถสปอร์ต ญี่ปุ่น

          Nissan Fairlady Z เป็นหนึ่งในตำนานรถสปอร์ตระดับโลกที่ยังคงได้รับการยอมรับมาจนถึงทุกวันนี้ โดย Nissan Fairlady Z นั้นเริ่มต้นจากแนวคิดที่แตกต่างไปจาก Skyline ซึ่งต้องย้อนกลับไปช่วงปลายยุค 60 ตอนที่นายยูทากะ คาตายามะ (Yutaka Katayama) เป็นประธาน Nissan ในอเมริกา (ในขณะนั้นใช้ชื่อ Datsun) ต้องการรถเรียกลูกค้า (Halo Car) และสร้างภาพลักษณ์ให้กับ Nissan ด้วยรถสปอร์ตที่มีความสวยงาม สมรรถนะดี ในราคาที่คนธรรมดาซื้อหาได้ไม่ยาก สำหรับจำหน่ายในอเมริกา

        ทำให้โปรเจคท์ Nissan 2000GT ซึ่งออกแบบโดย Albrecht Goertz ที่เคยถูกยกเลิกไป (ระหว่างนั้น Yamaha เปลี่ยนไปร่วมมือกับ Toyota แทนทำให้ Toyota 2000GT เปิดตัวออกมาก่อน) ถูกนำกลับมาต่อยอดอีกครั้งจนออกมาเป็น Nissan Fairlady Z ซึ่งเป็นรถทรงสปอร์ตหน้ารถเพรียวยาวท้ายสั้นตามแบบ Jaguar E-Type หรือ Ferrari 275 GTB ต่างจาก Skyline ที่เกิดมาจากแนวคิดการเป็นรถสปอร์ตแบบ GT โดยสิ้นเชิง

          เมื่อผู้ผลิตรถยนต์อเมริกันได้ยินว่า Nissan มีแผนบุกตลาดรถสปอร์ตเพื่อท้าชนกับรถของตนเอง ทั้ง Ford Mustang และ Chevy Camaro ต่างก็พากันหัวเราะเยาะเพราะไม่เคยมีรถสปอร์ตจากญี่ปุ่นหน้าไหนจะล้มยักษ์อเมริกันได้เลย

          สถานการณ์นี้ก็เกิดขึ้นกับ MG และ Triumph ในอังกฤษเช่นกันโดยไม่คาดคิดว่ารถสปอร์ตจากญี่ปุ่นจะมีความทะเยอทะยานและคุณภาพมากพอจนกระทั่งการเปิดตัวของ Nissan 240Z (S30) มาถึงในปี 1969 รถสปอร์ตจาก Nissan รุ่นใหม่นี้ก็กลายเป็นรถที่มียอดขายดีที่สุดในอเมริกาแซงหน้า Mustang และ Camaro ได้เพียงชั่วข้ามคืนจนต้องขายหน้าไปตาม ๆ กัน

มาสด้า อาร์เอ็กซ์-7 ปี 1978 (Mazda RX-7)

รถสปอร์ต ญี่ปุ่น

          จะว่าไปแล้ว Mazda นั้นก็คล้าย ๆ กับ Honda ตรงที่สร้างชื่อเสียงขึ้นมาจากนวัตกรรมและงานวิศวกรรมที่ล้ำเลิศอย่างเครื่องยนต์โรตารี่ 2 โรเตอร์ ที่วางใน Mazda RX-7 ปี 1978 ซึ่งเป็นการช่วยสร้างปรากฏการณ์สำคัญในฐานะรถสปอร์ตจากญี่ปุ่นในสหรัฐอเมริกาให้เกิดขึ้นอีกครั้ง

          ด้วยพละกำลังที่มีแค่ 105 แรงม้า กับเรดไลน์ที่ 7,000 รอบ/นาที นั้นสามารถพา Mazda RX-7 วิ่ง จาก 0-100 กม./ชม. ได้ภายใน 10 วินาที ซึ่งดีพอ ๆ กับ รถตระกูล Z ของ Nissan รวมไปถึง Porsche 924S ที่เป็นแม่แบบงานดีไซน์ให้กับ Mazda RX-7 จนเกินกว่าที่จะใช้คำว่าแรงบันดาลใจก็ว่าได้

          แต่ใครจะสนหากมันทำให้ Mazda เป็นรถสปอร์ตที่ดูดีแถมยังมีราคาสมเหตุสมผลและสัมผัสได้จริง

Toyota Celica Supra ปี 1982

รถสปอร์ต ญี่ปุ่น

          ในช่วงปลายยุค 70 จนถึงต้น 80 นี้เป็นการเข้าสู่ยุครถเหลี่ยมซึ่งได้รับความนิยมไปทั่วโลก ที่เริ่มนำกระแสมาก่อนล่วงหน้าโดยรถสปอร์ตจากอิตาลีอย่าง Lamborghini Countach ในปี 1973 หรือแม้แต่ Lotus Esprit ปี 1977 ที่ออกแบบโดย จิออเก็ตโต จูจาโร (giorgetto giugiaro) เป็นตัวอย่าง

          แน่นอนว่า Toyota Celica Supra เจเนอเรชั่นที่ 2 ที่เปิดตัวในปี 1982 จึงมาพร้อมกับตัวถังทรงฟาสต์แบ็กด้านหน้าลิ่มแหลมเส้นสายเฉียบคมเหลี่ยมหมดจดไปทั้งคัน

          ซึ่งยุคนั้น Supra ยังเป็นแค่เวอร์ชั่นสปอร์ตสูงสุดของ Toyota Celica ก่อนที่จะดังแล้วแยกวงออกมาเป็นรถรุ่นใหม่โดยไม่มีความเกี่ยวข้องใด ๆ กันอีกต่อไปในเจเนอเรชั่นที่ 3

          โดย Celica Supra ในอเมริกาเหนือจะวางเครื่องยนต์ 6 สูบ ขนาด 2.8 ลิตร 12 วาล์ว ให้กำลัง 145 แรงม้า และแรงบิด 210 นิวตันเมตร พร้อมกับช่วงล่างอิสระ 4 ล้อ ที่ปรับแต่งโดย Lotus ซึ่งได้รับการยอมรับว่าเป็นรถสปอร์ตที่มีการบังคับควบคุมได้ดีมากคันหนึ่งของญี่ปุ่นในยุคนั้น

มิตซูบิชิ สตาร์เรี่ยน ปี 1982 (Mitsubishi Starion)

รถสปอร์ต ญี่ปุ่น

          อีกหนึ่งรถเหลี่ยมจัดในยุค 80 ที่ออกมาช่วงเวลาไล่เลี่ยกับ Toyota Supra, Nissan 300Z(Z31) และ Mazda RX-7 โดยที่มาของชื่อ Starion นั้นกระแสหนึ่งระบุว่ามาจากการรวมคำว่า Star of Orion ให้สั้นลง เพื่อสื่อถึงดวงดาวและม้า Arion ในตำนานกรีกโบราณ

          แต่อีกส่วนหนึ่งเชื่อว่าเป็นการสื่อสารที่ผิดพลาดทางด้านภาษาระหว่างทีมวิศวกรชาวญี่ปุ่นของ Mitsubishi กับทีมการตลาดต่างประเทศ ซึ่งตอนแรกตั้งใจใช้ชื่อว่า สแตลเลียน (Stallion) อันหมายถึงม้าพ่อพันธุ์ (จงใจให้คล้ายกับที่ Ford ตั้งชื่อรถสปอร์ตว่า Mustang)

          แต่ในที่สุดก็ Mitsubshi ก็เปิดตัวรถสปอร์ตรุ่นใหม่นี้ด้วยชื่อ Starion ในปี 1982 ซึ่งใช้เครื่องยนต์ Sirius รหัส 4G63 หัวฉีด 4 สูบ เทอร์โบ 2.0 ลิตร ที่ถือว่าทันสมัยมากในยุคนั้น (ในอเมริกาใช้เครื่อง Astron 4G53 2.6 ลิตร) จนได้มาประจำการใน Mitsubishi Lancer Evolution ภายหลัง

          สำหรับชื่อเสียงของ Mitsubishi Starion ก็ไม่ได้ด้อยไปกว่าคู่แข่งชาติเดียวกันเสียเท่าไรนักในตอนนั้น แถมยังมีอัตราเร่ง 0-80 กม./ชม. เหนือกว่าทั้ง Nissan 300Z หรือ Mazda RX-7 ด้วยซ้ำ ขนาดที่นิตยสาร Car and Driver ของอเมริกายังยกย่องว่า Mitsubishi Starion นั้นเป็นรถที่ผู้ขับขี่จะประทับใจมากกับพลังของเทอร์โบที่เซตมาได้เฉียบคมทีเดียว

นิสสัน สกายไลน์ ปี 1989 (Nissan Skyline R32)

รถสปอร์ต ญี่ปุ่น

          Nissan Skyline R32 เป็นโมเดลที่กลับมาสานต่อตำนานรหัสแรงอย่าง GT-R อีกครั้งหลังจากที่ห่างหายไปจาก Skyline นานถึง 16 ปี นับจาก Skyline GT-R (KPGC110) ปี 1972 ซึ่งเป็นรุ่นสุดท้ายก่อนเกิดวิกฤตน้ำมันโลกครั้งที่ 1 ในปี 1973

          ทำยอดขายได้น้อยมากจนกลายเป็นรถคลาสสิกหายากในปัจจุบันไปอีก 1 รุ่น และโมเดลนี้เองถือเป็นต้นกำเนิดของไฟท้ายทรงโดนัทอันเป็นเอกลักษณ์ของ Skyline เรื่อยมา
 
          การกลับมาของรหัส GT-R ใน Nissan Skyline R32 นี้เรียกได้ว่าสร้างชื่อเสียงการเป็นรถสปอร์ตพลังแรงของ Nissan จนกลับมาโด่งดังไปทั่วโลกอีกครั้ง ด้วยเครื่องยนต์ในตำนานอย่าง RB26DETT ขนาด 2.6 ลิตร เทอร์โบคู่ ให้กำลังสูงสุด 280 แรงม้า และแรงบิด 368 นิวตันเมตร

          ซึ่งที่จริงแล้วเครื่องยนต์ตัวนี้มีกำลังสูงถึง 320 แรงม้า แต่ด้วยข้อตกลง gentlemen\'s agreement ของประเทศญี่ปุ่นทำให้ถูกจำกัดไว้แค่นั้น แต่อันที่จริงตัวเลข 320 แรงม้า ก็ยังนับว่าเป็นเรื่องเด็ก ๆ สำหรับ RB26DETT ที่ถูกออกแบบไว้ให้โมดิฟายต่อไปได้ถึง 500 แรงม้า สำหรับการแข่งขันโดยเฉพาะ

          นอกจากเครื่องยนต์ที่ทรงพลังแล้ว Nissan Skyline ยังมาพร้อมเทคโนโลยีอย่าง ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ และระบบบังคับเลี้ยว 4 ล้อ HICAS เพื่อลดอาการท้ายปัดยามเข้าโค้งมาให้ใช้อีกด้วย

มิตซูบิชิ จีทีโอ ปี 1990 (Mitsubishi GTO)

รถสปอร์ต ญี่ปุ่น

          Mitsubishi GTO หรือ 3000GT (สำหรับตลาดญี่ปุ่น) รถสปอร์ตเรือธงแบบ 2+2 ที่นั่งจาก Mitsubishi นี้เป็นการนำชื่อ GTO ที่ใช้ใน Galant GTO ยุค 70 กลับมาอีกครั้งซึ่งว่ากันว่ารหัส GTO นี้ได้แรงบันดาลใจมาจาก Ferrari 250 GTO (Gran Turismo Omologato ในภาษาอิตาลี) ถ้าแปลเป็นภาษาอังกฤษก็คือ Grand Touring Homologated

          ดังนั้นรหัส O ของ Ferrari จึงหมายถึงรถ Ferrari ที่ผลิตขึ้นมาให้ครบจำนวนตามข้อกำหนดเพื่อให้สามารถลงแข่งขันในสนามได้ตามกฎของ FIA เสมอ และมันจึงไม่ธรรมดา แต่สำหรับ Mitsubishi GTO นั้นถึงจะไม่มีความเกี่ยวข้องกันในแบบของ Ferrari แต่ก็เป็นรถสปอร์ตสัญชาติญี่ปุ่นที่มีรูปทรงสะดุดตาน่าดึงดูดแห่งยุคคันหนึ่งก็ว่าได้

          อีกทั้งยังใช้เครื่องยนต์ V6 3.0 ลิตร ทวินเทอร์โบ ให้กำลังสูงสุด 280 แรงม้า และเพิ่มขึ้นเป็น 300 แรงม้า หากเป็นรุ่นที่จำหน่ายในยุโรปหรืออเมริกา พร้อมเทคโนโลยีทันสมัยอย่างระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ, ระบบเลี้ยว 4 ล้อ, สปอยเลอร์หน้า-หลังปรับได้อัตโนมัติตามความเร็ว รวมไปถึงระบบกันสะเทือนปรับด้วยไฟฟ้าในแบบที่รถสปอร์ตราคาแพงในปัจจุบันยังไม่มีให้ด้วยซ้ำ

ฮอนด้า เอ็นเอสเอ็กซ์ ปี 1991 (Honda NSX)

รถสปอร์ต ญี่ปุ่น

          Honda NSX เป็นหนึ่งในตำนานรถสปอร์ตเครื่องยนต์วางกลางลำ ซึ่งโดดเด่นมากที่สุดรุ่นหนึ่งในยุค 90 จนถูกขนานนามว่า Ferrari ญี่ปุ่น โดยรหัส NSX นั้นย่อมาจากคำ 3 คำคือ New Sportscar eXperimental ซึ่งถูกออกแบบมาให้มีรูปทรงแบนเตี้ยและเพรียวบางตามหลักอากาศพลศาสตร์

          แนวหลังคาได้แรงบันดาลใจจาก ค็อกพิทเครื่องบินขับไล่รุ่น F-16 Fighting Falcon ของ General Dynamics (ปัจจุบันเป็น Lockheed Martin) และ Honda NSX จัดว่าเป็นรถยนต์รุ่นแรกของโลกที่ใช้ตัวถังอะลูมิเนียมน้ำหนักเบาผลิตออกจำหน่ายในแบบจำนวนมาก (Mass-Production)

          ขุมพลังของ Honda NSX นั้นวางเครื่องยนต์ V6 V-TEC 3.0 ลิตร ให้กำลังสูงสุด 270 แรงม้า ซึ่งในส่วนพละกำลังนี้คงเป็นความตั้งใจของ Honda ที่ต้องการให้รถสามารถควบคุมได้ง่ายสำหรับลูกค้าทั่วไป

          เนื่องจากธรรมชาติของรถเครื่องยนต์วางกลางลำท้ายมักจะมีความเป็นกลางสูงและว่องไวมากบวกกับน้ำหนักรถที่เบาและขับเคลื่อนล้อหลัง อาจเป็นโทษสำหรับผู้ขับที่ขาดทักษะจนถึงขั้นเอาไม่อยู่ แบบเดียวกับที่ Enzo Ferrari จะไม่ยอมวางเครื่องยนต์ไว้กลางลำท้ายสำหรับรถ Ferrai ที่ขายให้กับลูกค้าเศรษฐีทั่วไป (ซึ่ง Enzo คิดว่ามือไม่ถึง) จึงสงวนไว้สำหรับรถแข่งของตนเท่านั้น (ซึ่งแกอาจกลัวว่าลูกค้าจะไม่ได้มีโอกาสกลับมาซื้ออีกเป็นหนที่สอง)

          ก่อนจะต้านกระแสไม่ไหวเพราะการมาของ Lamborghini Miura ในปี 1966 ซึ่งใช้เครื่องยนต์ V12 สูบ วางขวางกลางลำด้านท้าย (แม้แต่เครื่องยนต์ V12 สูบ ของ Ferrari ยังต้องวางตามยาว)

          ที่สำคัญในวงการลือกันว่าเครื่องยนต์ตัวนี้ Lamboghini ได้ว่าจ้างให้อัจฉริยะหน้าใหม่แต่มีฝีมือร้ายกาจนามว่า Honda พัฒนาขึ้นมาให้แบบไม่ออกสื่อด้วย

มาสด้า อาร์เอ็กซ์-7 ปี 1991 Mazda RX-7 (FD)

รถสปอร์ต ญี่ปุ่น

          ถ้าเอ่ยถึง Mitsubishi GTO และ Honda NSX โดยไม่กล่าวถึง Mazda RX-7 (FD) ที่เป็นคู่แข่งสำคัญก็คงจะไม่เหมาะสมนัก เพราะ RX-7 เป็นรถสปอร์ตเพียงคันเดียวในโลก ที่ยังมุ่งมั่นกับขุมพลังโรตารี่วางกลางลำด้านหน้าซึ่งมีความจุแค่ 1.3 ลิตร พร้อมเทอร์โบคู่แบบ sequential twin-turbo (Mazda เป็นรายแรกที่นำมาใช้กับรถที่ผลิตในแบบ Mass-Product)

          โดยการทำงานแตกต่างจากรถเทอร์โบแบบ Parallel คือ เทอร์โบตัวแรกจะเริ่มบูตก่อนตั้งแต่รอบต่ำที่ 1,800 รอบ/นาที และเมื่อถึง 4,000 รอบ/นาที เทอร์โบตัวที่สองจึงเริ่มทำงานเพื่อให้ได้กำลังในช่วงรอบเครื่องยนต์ที่กว้างและยาวต่อเนื่องกว่า (ปัจจุบันจึงมีเทอร์โบวาล์วแปรผันที่ช่วยให้กำลังต่อเนื่องในรอบที่กว้างขึ้นโดยไม่ต้องอาศัยเทอร์โบ 2 ตัว)

          ทั้งนี้ Mazda RX-7 ในรุ่นแรกมีกำลังสูงสุดแค่ 255 แรงม้า และเพิ่มเป็น 280 แรงม้า ในปี 1993 นอกจากความโดดเด่นในเรื่องของเทคโนโลยีแล้ว Mazda RX-7 ยังเป็นรถสปอร์ตที่ออกแบบได้สวยงามมากที่สุดคันหนึ่งของญี่ปุ่นและยังดูดีมาจนถึงทุกวันนี้

โตโยต้า ซูปร้า ปี 1993 (Toyota Supra)

รถสปอร์ต ญี่ปุ่น

          ส่งท้ายสปอร์ตยุค 90 กันด้วย Toyota Supra อีกครั้ง ซึ่งเป็นรุ่นที่ 2 หลังจากได้แตกไลน์ออกมาจาก Toyota Celica จนกลายเป็นรถสปอร์ตสมรรถนะสูงตัวท็อปของ Toyota ซึ่งต้นศตวรรษที่ 90 นี้การออกแบบได้เปลี่ยนเข้าสู่ยุคที่เริ่มมีความโค้งมนมากขึ้น สไตลิ่งของ Toyota Supra จึงออกไปทางอวบอิ่มเต็มพิกัดมากกว่าเพื่อนร่วมรุ่นแต่ยังคงกลิ่นไอของรถสปอร์ตในตำนานอย่าง Toyota 2000GT ไว้

          ทางด้านขุมพลังนั้นก็ไม่น้อยหน้ารถสปอร์ตคันอื่น ๆ ในยุคเดียวกันด้วยการวางเครื่องยนต์ 6 สูบเรียง รหัส 2JZ-GE หากเป็นรุ่นทวินเทอร์โบ (แบบ sequential twin-turbo) เป็นรหัส 2JZ-GTE ให้กำลัง 220 แรงม้า แรงบิด 280 นิวตันเมตร และ 280 แรงม้า แรงบิด 430 นิวตันเมตร ตามลำดับ

          แต่สำหรับ Toyota Supra รุ่น Turbo ที่จำหน่ายในยุโรปและอเมริกานั้น มีพละกำลังเพิ่มเป็น 320 แรงม้า สามารถทำความเร็วสูงสุดได้ถึง 285 กม./ชม. (ในญี่ปุ่นถูกจำกัดไว้ที่ 180 กม./ชม. และ 250 กม./ชม. ในยุโรป)

          พอมาถึงช่วงปลายยุค 90 ทั้ง Toyota Supra และมิตรสหายรถสปอร์ตจากญี่ปุ่นรวมไปถึงทั่วโลกเริ่มลดความนิยมลงโดยมีรถ SUV คันโตเข้ามาแทนที่ จนรถสปอร์ตตัวท็อปของญี่ปุ่นเหล่านี้ ต้องทยอยอำลาวงการไปอย่างเงียบ ๆ ทีละคันสองคันโดยไม่มีรุ่นใหม่เข้ามาแทนที่ไปพักใหญ่ เหลือแต่รถสปอร์ตและซูเปอร์คาร์ฝั่งยุโรประดับไฮเอนด์บางส่วนที่คอยเก็บเกี่ยวลูกค้าเฉพาะกลุ่มกันต่อไป

นิสสัน จีที-อาร์ ปี 2007 (Nissan GT-R)

รถสปอร์ต ญี่ปุ่น

          ช่วงปี 2001 Nissan GT-R Prototype ได้ออกมาปรากฏตัวในงาน Tokyo Motor Show และทุกคนรู้ได้ทันทีว่านี่คือ Nissan Skyline GT-R รุ่นใหม่แน่นอน โดยไม่มีใครคาดคิดว่า Skyline จะไม่ใช่ Skyline ในแบบที่คุ้นเคยอีกต่อไป (ตอนนั้นยังไม่มีใครรู้ว่า Nissan จะถูกแยก GT-R ออกจาก Skyline)

          จนกระทั่งวันเปิดตัว Nissan Skyline ใหม่ รหัสตัวถัง V35 และ CV35 ซึ่งไม่ได้มีหน้าตาเหมือนกับ GT-R Prototype เพราะมันได้ถูกเปลี่ยนตำแหน่งทางการตลาดให้ย้อนกลับไปเป็นรถสปอร์ต GT หรูหรามีเนื้อที่มากพอสำหรับผู้โดยสารและสัมภาระแบบต้นกำเนิด (Prince Skyline Sport Coupe) ซึ่งน่าจะเป็นการเตรียมจัดทัพใหม่ของ Nissan

          เนื่องจากช่วงเดียวกันนั้น Nissan Fairlady Z (350 Z) เองก็กลับมาเป็นรถทรงสปอร์ตเต็มตัวอีกครั้ง (หลังจากอวบเต็มที่ตอนเป็น 300ZX รหัส Z32) แต่ความแรงในแบบ GT-R ที่หลายคนรอคอยนั้นก็ยังหายไปอย่างไม่มีใครรู้ชะตากรรม

          ต่อมาในปี 2005 Nissan GT-R Prototype เผยโฉมอีกครั้งด้วยหน้าตาใกล้เคียงกับคันต้นแบบ ปี 2001 ด้วยการออกแบบที่แข็งแกร่งเหมือนหุ่นยนต์ Gundam ซึ่งการเปิดตัวรถสปอร์ตต้นแบบของ Nissan ครั้งนี้เองทำให้แววตาของสาวกทั่วโลกมีประกายอีกครั้งและในที่สุด Nissan GT-R รุ่นผลิตจริงได้กลับมาในปี 2007 โดยปราศจากชื่อ Skyline อีกต่อไปด้วยรูปร่างหน้าตาที่ไม่ต่างจากต้นแบบซึ่งโดดเด่นและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวแตกต่างจากรถสปอร์ตจากฝั่งยุโรปอย่างชัดเจน

          Nissan GT-R รุ่นใหม่ใช้แพลตฟอร์ม Premium Midship (PM) ซึ่งพัฒนาจาก Front  Midship (FM) ของ Skyline โดยใช้โครงสร้างที่แข็งแกร่งแบบเดียวกับรถแข่ง รวมถึงการนำวัสดุอะลูมิเนียมมา ใช้ในหลายจุดเพื่อลดน้ำหนัก ส่วนขุมพลังของ Nissan GT-R มาจากเครื่องยนต์ รหัส VR38DETT แบบ V6 ทวินเทอร์โบ ขนาด 3.8 ลิตร ให้กำลัง 478 แรงม้า และแรงบิด 588 นิวตันเมตร ในช่วงแรกและเพิ่มเป็น 545 แรงม้า กับแรงบิด 628 นิวตันเมตร ในปัจจุบัน นอกจากนี้ยังมีการออกรุ่นพิเศษอย่าง V-Spec และ GT-R Nismo ที่แรงกว่ารุ่นปกติด้วย

          การกลับมาของ Nissan GT-R ครั้งนี้ ถือเป็นการสานต่อความสำเร็จให้กับ Skyline ในอดีต และยังสร้างชื่อให้กับ Nissan เป็นอย่างมากทั้งในแง่ของสมรรถนะและการบังคับควบคุมที่สุดยอดจนสามารถเทียบชั้นรถสปอร์ตจากฝั่งยุโรปได้ในราคาที่สมเหตุผลกว่าจนเป็นที่ยอมรับจากสื่อมวลชนสายรถยนต์ทั่วโลก และ Nissan GT-R ยังทำให้รถสปอร์ตสมรรถนะสูงจากญี่ปุ่นกลับมาอยู่ในกระแสได้อีกครั้งหลังจากที่ปล่อยให้รถสปอร์ตจากฝั่งยุโรปครอบครองมานาน

เลกซัส แอลเอฟเอ ปี 2010 (Lexus LFA)

รถสปอร์ต ญี่ปุ่น

          หลังจากที่ Nissan ส่ง GT-R ออกอาละวาดและกวาดยอดขายถล่มทลายสวนกระแสอันซบเซาของรถสปอร์ตจากญี่ปุ่นจนขายดิบขายดีและมีเสียงชื่นชมมากมาย น่าจะทำให้ Lexus ที่กำลังซุ่มทำซูเปอร์คาร์มาสักพักมีความมั่นใจมากขึ้น จนกลายมาเป็น Lexus LFA ซึ่งผลิตแบบจำกัดจำนวนไว้แค่ 500 คัน กับราคามหาโหดจนครองตำแหน่งรถญี่ปุ่นราคาแพงที่สุดเท่าที่เคยมีมากันเลย

          แต่อย่างไรก็ตามด้วยความดีงามของ Lexus LFA นั้นทำให้ขายหมดเกลี้ยงและยังได้รับคำชมมากมายเช่นเดียวกัน ซึ่งเครื่องยนต์ V10 ขนาด 4.8 ลิตร 560 แรงม้า และแรงบิด 480 นิวตันเมตร ที่วางกลางลำด้านหน้านั้นพัฒนาโดยคู่หูเก่าแก่อย่าง Yamaha ซึ่งคร่ำหวอดในวงการ F1 มานานด้วยเช่นกัน ส่วนงานตัวถังนั้น LFA ใช้วัสดุน้ำหนักเบาอย่าง คาร์บอนไฟเบอร์-รีนฟอร์ซ โพลีเมอร์ (carbon fiber-reinforced polymer หรือ CFRP) เป็นหลักจนกลายเป็นสุดยอดซูเปอร์คาร์ที่พิเศษอีกหนึ่งรุ่น

          ซึ่งในอเมริกา Lexus LFA จำนวน 150 คัน ถึงขั้นต้องกำหนดรูปแบบการขายเป็นโปรแกรมการเช่าซื้อระยะยาว 2 ปี แบบเดียวกับไฮเปอร์คาร์อย่าง Ferrari F50 เพื่อป้องกันการซื้อและนำมาขายต่อแบบเก็งกำไรของนักลงทุนกันเลยทีเดียว

 แอคิวร่า เอ็นเอสเอ็กซ์ ปี 2016 ( Acura NSX)

รถสปอร์ต ญี่ปุ่น

          ในเมื่อ Nissan และ Toyota (แม้จะมาในฐานะ Lexus ก็ตาม) เริ่มขยับหันมาจับตลาดซูเปอร์คาร์สมรรถนะสูงแล้วยังได้ทั้งเงินและเสียงชื่นชมอย่างมาก Honda ก็คงจะปล่อยไว้ไม่ได้เพราะอดีตที่ผ่านมา Honda NSX ก็ไม่เป็นสองรองใครในบรรดารถสปอร์ตร่วมชาติอยู่แล้ว

          แต่ครั้งนี้เหมือนกับว่า Honda ให้ความสำคัญไปที่แบรนด์ Acura มากกว่า ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจเพราะเป้าหมายของ 2017 Acura NSX ไม่ได้มีแค่ Nissan GT-R หรือ Lexus LC ใหม่ที่กำลังจะเปิดตัวในไม่ช้านี้เท่านั้น แต่ Honda ยังเล็งเป้าไปยังซูเปอร์คาร์สายพันธุ์เยอรมันอย่าง Audi R8 ใหม่ด้วยการใช้เครื่องยนต์ V6 ขนาดความจุ 3.5 ลิตร ทวินเทอร์โบ ร่วมกับมอเตอร์ไฟฟ้า 3 ตัว จนกลายเป็นซูเปอร์คาร์ ไฮบริด ที่มีกำลังรวมกันถึง 573 แรงม้า ส่งกำลังผ่านเกียร์อัตโนมัติแบบคลัตช์คู่ 9 จังหวะ พร้อมระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ แบบ All-Wheel Drive

          ส่วนของเครื่องยนต์นั้นใช้เวลาประกอบด้วยมืออย่างพิถีพิถันถึง 5 ชม. โดยช่างที่มีความชำนาญ 6 คน/1 เครื่องยนต์ ซึ่งถ้าวัดจากความสวยงามและกระแสตอบรับที่ผ่านมานั้นก็พอจะมีความเป็นไปได้ว่า 2017 Acura NSX จะกลับมาเป็นหนึ่งในซูเปอร์คาร์จากญี่ปุ่นที่สร้างชื่อเสียงดังเช่นในอดีตได้อีกครั้งอย่างไม่ยากเย็นนัก

          อย่างไรก็ตามทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่เสี้ยวหนึ่งของรถสปอร์ตตัวท็อปจากญี่ปุ่นที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลกในบางช่วงเวลาที่ผ่านมาเท่านั้น อันที่จริงแล้วยังมีรถสปอร์ตอีกหลายรุ่นที่สร้างชื่อเสียงไว้มากมาย เช่น Toyota MR-2, Nissan 200SX หรือแม้แต่ Mazda MX-5 ที่อยู่ยงคงกระพันมาจนถึงปัจจุบันอย่างสง่างามเพื่อยืนยันความเป็นสุดยอดรถสปอร์ตจากญี่ปุ่นที่ไม่แพ้ชาติใดในโลกนั้นเป็นเรื่องจริง

ภาพจาก Honda, Toyota, Mazda, Nissan, Mitsubishi, Lexus, Acura


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
15 สุดยอดรถสปอร์ตสายพันธุ์ญี่ปุ่นจากอดีตจนปัจจุบันยังต้องฝันถึง อัปเดตล่าสุด 20 มิถุนายน 2564 เวลา 22:27:11 49,556 อ่าน
TOP